โครงการ “เติมพลังครู สู่ห้องเรียน”
โครงการ “เติมพลังครู สู่ห้องเรียน”
ภายใต้ โครงการ “ห้องเรียนข้ามเส้น” ED-Possible
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ
แห่งประเทศไทย
image
เมื่อพูดถึงคำว่า การศึกษาไทย หลายคนอาจจะมีมุมมองต่อประเด็นนี้ที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องการตั้งคำถามว่าทำไมเวลามีการจัดอันดับเรื่องคุณภาพเรากลับอยู่รั้งท้าย หรือการตั้งคำถามกับหลักสูตรว่าทำไมไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าเรามองอีกมุมที่ลึกลงไปถึงสถานการณ์ภาพรวมของการศึกษาในประเทศไทย ที่เชื่อมโยงทั้งในระบบโครงสร้างทางนโยบายจากส่วนกลางของภาครัฐบาลที่มีค่อนข้างเปลี่ยนแปลงบ่อยตามผู้บริหารกระทรวงฯ ไปจนถึงรูปแบบการจัดสรรงบประมาณที่ยังเน้นการนับจำนวนรายหัวนักเรียน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการทำงานระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดใหญ่ บุคลากรที่เราเรียกว่า พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ของชาติ ต้องเผชิญกับข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ
image
image
ในเวลาเดียวกันครูจำนวนมากหนีไม่พ้นปัญหาวัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมการทำงานเชิงอำนาจที่เน้นการสั่งการ มากกว่าการให้อิสระทางความคิดหรือการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบรรจุใหม่อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวเป็นเวลานานพอสมควร เพื่อให้สามารถอยู่ในสถานศึกษานั้น ๆ ได้ อาจทำให้ครูหลายคนเกิดเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน รู้สึกกดดันและเผชิญความเครียดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน
อีกทั้ง สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความเป็นอยู่ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลต่อประเด็นด้านคุณภาพชีวิต ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จนเกิดเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินของข้าราชการครู นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องผู้เรียน ที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ปัญหาเรื่องเศรษฐานะ ความยากจนและความไม่พร้อมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ของผู้เรียน ในฐานะของคนเป็นครู ก็ยากที่จะนิ่งดูดายและเข้าไปมีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาผู้เรียนด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน “ครู” คือบุคลากรสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการช่วยพัฒนาทรัพยากรของชาติให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้ แต่หลายปัจจัย สถานการณ์และสภาพแวดล้อมดูจะไม่เอื้ออำนวยให้ครูในโรงเรียนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่หากยังมีข้อจำกัดเรื่องของสภาพจิตใจ สุขภาพจิตที่ดีจากภายใน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครูคือวิชาชีพที่สังคมคาดหวังให้เป็นบุคคลสำคัญในการบ่มเพาะ ขัดเกลา สร้างสรรค์และพัฒนามนุษย์ ให้เกิดการเรียนรู้ทั้งด้านอารมณ์ สังคม และเนื้อหา วิชาการต่าง ๆ ฉะนั้น ครูที่พร้อมจะไปสู่การพัฒนามนุษย์ได้ ต้องมีความพร้อมจากภายในจิตใจของตนเองก่อนเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับผู้เรียนได้
เติมพลังครูรุ่นที่ 1
image
image
image
image
โครงการ “ห้องเรียนข้ามเส้น” (ED-Possible) เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาครู จากพื้นฐานความคิดที่ว่า “เมื่อครูมีความสุขจะส่งผลไปถึงผู้เรียนเช่นกัน” แต่กว่าจะได้มาซึ่งความสุขซึ่งดูเป็นนามธรรม ต้องเริ่มต้นจากปัญญาภายใน ซึ่งกระบวนการ “จิตตปัญญาศึกษา” และ Transformative Learning ที่เป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับต่าง ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภายในตน การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง โดยจิตตปัญญาศึกษาเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ส่วนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นเป้าหมาย โดยเป็นการขยายจิตสำนึกโดยผ่านกระบวนการเปลี่ยนมุมมองของเรื่องราวต่าง ๆ ในการสัมผัสได้ถึงความรู้สึกใต้จิตสำนึก เพื่อพัฒนามนุษย์ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ นี้ จัดเป็นการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อโยงจิตตปัญญาศึกษาสู่ transformative education เพื่อพัฒนามนุษย์อย่างตรงจุด
เติมพลังครูรุ่นที่ 2
image
image
image
image
โครงการ “ห้องเรียนข้ามเส้น” (ED-Possible) เราเชื่อว่าครูทุกท่านที่ได้เข้าร่วม โครงการ “เติมพลังครู สู่ห้องเรียน” จะได้กลับมาทำความเข้าใจตนเอง มารับฟังเสียงความต้องการที่แท้จริง มาทบทวนความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ลึกลงไป ส่งต่อพลังบวกจนสร้างแรงบันดาลใจให้ครูรู้สึกมีกำลังใจและอยากพัฒนางานของตนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็คือการพัฒนาผู้เรียนในวันนี้ให้เขาได้เติบโตเป็น “คนคุณภาพ” ต่อไป
VDO : โครงการ “เติมพลังครู สู่ห้องเรียน”