เครือข่ายด้านการศึกษา
การประกาศคุณลักษณะเด็กระยองสู่สากล เพื่อจัดการศึกษาในบริบทระยอง
วันจันทร์ ที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 - 17.00 น.
ณ ห้องประชุม สุนทรภู่ โรงแรมสตาร์คอนเวนชั่น ระยอง
image
image
image
image
จังหวัดระยองเป็นพื้นที่สำคัญที่มีนิคมอุตสาหกรรมเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกับสถานประกอบการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสถาบันการศึกษาต้องเข้าใจถึงทักษะและคุณสมบัติที่สถานประกอบการต้องการ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไม่ได้ต้องการแรงงานจำนวนมากอีกต่อไป แต่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ความเข้าใจ และความชำนาญในการทำงานกับเครื่องจักรที่ทันสมัย
นอกจากนี้ข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรมในระยองยังชี้ให้เห็นว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากกำลังทยอยเข้ามาตั้งใหม่ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเตรียมพลเมืองระยองที่มีทัศนคติและทักษะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ในอนาคต
ปัจจุบันจังหวัดระยองเป็น 1 ใน 8 จังหวัดที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 และแผนการพัฒนาการศึกษาตามบริบทพื้นที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เห็นความสำคัญและร่วมกันขับเคลื่อนให้จังหวัดระยองเกิดแผนการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของจังหวัดและความต้องการของชุมชน เพื่อให้การศึกษามีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สร้างพลเมืองระยองสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ เป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเมืองและประเทศต่อไป
การประกาศคุณลักษณะเด็กระยองสู่สากล เพื่อจัดการศึกษาในบริบทระยองในครั้งนี้ เป็นเวทีที่ประกาศคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ผู้ใฝ่เรียนรู้คู่ทักษะภาษา ผู้รู้ใช้เท่าทันดิจิทัล และพลเมืองโลกที่มีวินัยและจรรยา ทั้ง 3 ประการนี้เป็นหมุดหมายที่ทุกภาคส่วนจะบูรณาการความร่วมมือกันพัฒนาเด็กระยอง โดยใช้เวทีนี้สะท้อนความเข้าใจในมุมมองที่หลากหลายและชี้ให้เห็นความสำคัญของแนวคิดการพัฒนาเด็กระยองสู่สากลในมุมมองของผู้บรรยายที่เป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วนซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ร่วมกัน โดยสามารถสรุปใจความสำคัญของแต่ละท่านไว้ได้ ดังนี้
  • สิบโทไชยยันต์ เกิดเหมาะ ศึกษาธิการจังหวัดระยอง บทบาท Policy maker ในประเด็น “ทำไมต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาผู้เรียนระยองสู่สากล”
image
ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 2.1 น้อยกว่าทุกประเทศในอาเซียน เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่วนใหญ่อยู่ที่การส่งออก การท่องเที่ยว เมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่น้อย แล้วอะไรคือสิ่งที่จะพลิกวิกฤตนี้ให้ดีขึ้นได้
การพัฒนา Skill: กุญแจสู่การเพิ่มรายได้ของประเทศในยุค GDP ต่ำ
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ลดลง ความท้าทายนี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรในระยะยาว ประเทศที่ GDP ต่ำมักเผชิญกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ผ่านการเพิ่มทักษะ (Skill) และการพัฒนาการศึกษาและสังคม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศก้าวข้ามความยากลำบากนี้ได้
การเพิ่มทักษะ (Skill) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการยกระดับ GDP คือการเพิ่มทักษะของแรงงานในประเทศ ทักษะที่พัฒนาขึ้นจะช่วยให้แรงงานสามารถทำงานที่มีมูลค่าสูงขึ้นและสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มรายได้ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ การพัฒนาทักษะไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและตลาดแรงงานที่มีความผันผวน
การศึกษา: รากฐานของการเพิ่มทักษะ
การศึกษาคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในทุกด้านของชีวิต การศึกษาที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องสร้างการศึกษาที่ทำให้เด็กมีทักษะที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานและสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลาเพื่อปรับตัวในสถานการณ์อนาคตที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง
ในโลกปัจจุบันหากเปรียบเปรยเป็นปลาในทะเล คงไม่ใช่แนวคิดปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป แต่เป็นปลาที่ว่ายน้ำไวกว่ามักได้เปรียบ จังหวัดระยองได้เริ่มต้นออกแบบแนวทางการจัดการศึกษาในบริบทของตนเองเป็นพื้นที่แรก ๆ ในประเทศไทย การที่จะสร้างการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กระยองได้นั้น ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของทุกคนที่อยู่ในบทบาทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น คุณครู ผู้อำนวยการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารและขับเคลื่อนระดับจังหวัด นักการศึกษา นักวิจัย กลุ่มธุรกิจ มาบูรณาการความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อประกอบสร้างเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่จะนำพาเด็กระยองสู่การเป็นพลเมืองโลกต่อไปในอนาคต
  • ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บทบาท นักวิจัยสังคม ในประเด็น “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ทางออกการศึกษาไทย”
image
การศึกษาไทย: พลิกโฉมด้วยการออกแบบตามความต้องการในพื้นที่
เมื่อระบบการศึกษาในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แนวคิด “One size fits all” หรือการใช้รูปแบบการศึกษาเดียวกันทั่วประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชากรได้อีกต่อไป
ตัวอย่างความสำเร็จของการออกแบบนโยบายเชิงพื้นที่
จุดเริ่มต้นของโมเดลโอทอป (OTOP) คือเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดิมเป็นแนวคิดที่นำไปใช้ในเมืองเล็กๆ ที่ล้าสมัย ประกอบกับบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด คุณโมริฮิโกะมีแนวคิดสร้างเมืองเสรี ไร้พรมแดน ให้คุณค่ากับการการพึ่งพาตนเอง ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง จากแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้การพัฒนานี้ เปลี่ยนแปลงเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง สร้างมูลค่าให้กับสินค้าและเมืองพร้อมทั้งรายได้ให้ประชากรของตนเอง
การจัดการศึกษาโดยท้องถิ่นเพิ่มคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร
ข้อดีของการบริหารงานโดยท้องถิ่นทำให้ห่างไกลจากการออกแบบทุกอย่างแบบ “One size fits all” ออกแบบตามสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่พร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วมดึงทุกภาคส่วนมาออกแบบร่วมกัน จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมได้ การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องจัดการศึกษาแบบเดียวกันทุกพื้นที่แต่ควรออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับอาชีพและความต้องการเฉพาะของแต่ละภูมิภาค ข้อดีของการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่นช่วยให้มีหลักสูตรหรือแนวทางการสอนที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่และชุมชน มีงบประมาณเพิ่มเติมและอิสระในการบริหารจัดการ มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การกระจายอำนาจการคลังช่วยเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษาของแต่ละท้องถิ่น ส่งผลให้คะแนนวัดระดับ PISA ของเด็กในท้องถิ่นนั้นเพิ่มขึ้น หรือ อบจ.เชียงใหม่ในท้องถิ่นมีต้นทุนเรื่องหนอนไหม มีอาชีพทอและขายผ้าไหม การสอนในโรงเรียนเน้นให้เด็กมีอาชีพด้วยก็คือนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพมาสอน เด็กจึงจะเห็นความสำคัญและรู้ว่าตนเองเรียนเรื่องนี้ไปทำไมและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
แน่นอนว่าฝันของเด็กหลายคนย่อมแตกต่างกัน ทุกคนสามารถประกอบอาชีพที่ฝันและตั้งใจได้ หากมีการศึกษาที่นำทางและบ่มเพาะความตั้งใจเหล่านั้นของเด็กๆ การศึกษาจึงต้องตอบสนองต่อความหลากหลายของผู้เรียนและการจัดการศึกษาตามบริบทพื้นกลายเป็นกุญแจสำคัญที่เพิ่มความเป็นไปได้ให้ทุกคนได้ทำตามฝันมากขึ้น
ระยอง: เมืองอุตสาหกรรมเชื่อมโลก
จังหวัดระยองเป็นเมืองที่มีลักษณะพิเศษเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศ เพราะเป็นจังหวัดที่เป็นฐานอุตสาหกรรมแหล่งใหญ่เป็นอับดับแรกของประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางของพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ส่งผลให้เมืองต้องการแรงงานหรือพลเมืองที่มีความเฉพาะทางทั้งในด้านทักษะและองค์ความรู้ ดังนั้นการศึกษาแบบดั้งเดิมที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของคนในแต่ละพื้นที่และบริบทของเมือง ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันเน้นการท่องจำและเป็นหลักสูตรที่ล้าสมัย ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน เช่น การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ไปมุ่งเน้นเรื่องบุคคล เวลา ยุคสมัยและเหตุการณ์ มากกว่าการสอนให้เด็กทำความเข้าใจที่มาและบริบทที่นำมาซึ่งการตัดสินใจของคนในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่เด็กควรได้ขบคิด ค้นคว้าอย่างมากมายเพื่อเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูง เป็นต้น หลักสูตรเดิมของเราต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) มากขึ้น ประเทศไทยยังต้องขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาหลักสูตรอีกต่อไปเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก
ระยองกับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
จังหวัดระยองเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ที่เน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ ความร่วมมือระหว่างหลายองค์กรในระยองได้สร้างต้นแบบให้กับประเทศไทย โดยการออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถทำให้ระยองกลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมระดับโลกได้
วิธีการประเมินผลการเรียนรู้แบบใหม่ในระยองยังเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยการนำสถานการณ์จริงมาจำลองในข้อสอบ แล้วให้ผู้เรียนได้แก้ไขปัญหานั้นๆ ในบางโรงเรียนสามารถประเมินผลนักเรียนได้สอดคล้องหลักสูตรฐานสมรรถนะครบถ้วนทุกฐานเป็นตัวอย่างที่นำร่องให้โรงเรียนอื่นๆ ดำเนินตามกันไป นอกจากนี้จังหวัดระยองยังเป็นผู้ริเริ่มทำระบบการรับรองและการประกันคุณภาพภายนอก โดยมีกระบวนการที่ครอบคลุมทั้งการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการค ครู นักเรียน ดูชิ้นงานนักเรียน เป็นต้น ที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของการจัดการศึกษาว่าได้มาตรฐานเพียงพอจริงหรือไม่
กลยุทธ์เชิงพื้นที่เหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้การเรียนรู้มีความหมายและเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนในการเผชิญกับความท้าทายในโลกแห่งความจริง
ภาคีที่เห็นความสำคัญของการศึกษา
สำหรับจังหวัดระยองการพัฒนาเชิงพื้นที่นี้ไม่ได้เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ภาคีที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและโลกในอนาคต การศึกษาในประเทศไทยต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความ ท้าทายและโอกาสที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว ยกตัวอย่างกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาหอการค้าไทยและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แก่ การเริ่มต้นกองทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดระยอง ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินบริจาคไปยังกลุ่มที่ต้องการและผู้บริจาคสามารถนำไปหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า เป็นต้น
จุดแข็งในการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ของระยอง นอกจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอน การกำหนดหลักสูตรที่สอดคล้องกับทักษะในอนาคต การพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่เชื่อมโลกจริงและความร่วมมือของทุกภาคส่วนแล้วนั้น ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็พร้อมจะลงทุน ลงแรง เรียนรู้และพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเป้าหมายเดียวกันที่มุ่งหวัง
  • นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง บทบาท ตัวแทนภาครัฐ ในประเด็น “การประกาศคุณลักษณะผู้เรียนระยองสู่สากล”
image
เนื่องจากจังหวัดระยองได้รับการประกาศจากรัฐบาลเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา เราจึงมุ่งเน้นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการจัดการศึกษาที่หลากหลายและครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะทำอย่างไรให้การศึกษาไม่เลือกพัฒนาเด็กให้เป็นอัจฉริยะด้านเดียว สิ่งสำคัญในกระบวนการพัฒนาทุนมนุษย์ไม่ใช่แค่การสร้างความรู้ใหม่แต่ยังรวมถึงการเรียนรู้จากภูมิปัญญาของ บรรพบุรุษ
สมัยก่อนบริบทพื้นที่ไม่สามารถจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์กับค่านิยมของคนระยองที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพ ต่อยอดโอกาสทางการศึกษาได้ต่อเนื่อง จึงเกิดปรากฏการณ์ส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงต่างถิ่น แต่ในปัจจุบันที่ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ก็เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและตอบโจทย์กับความต้องการได้มากขึ้น ดังจะเห็นในปรากฏการณ์ของโรคระบาด Covid-19 เด็กสามารถเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านได้ เรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์ เด็กเรียนที่ไหนก็ได้ยิ่งทำให้ตระหนักได้ว่าการการจัดการศึกษาในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อคืนเด็กกลับมาในอยู่ในชุมชนและสังคม
ประกอบกับจังหวัดระยองได้ก้าวขึ้นเป็นจังหวัดที่มี GDP สูงที่สุดในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งในด้านอุตสาหกรรมและทรัพยากรมนุษย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงนี้มีผลโดยตรงในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความยากจนก็ลดน้อยลง ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ครอบครัวสามารถหันมาให้คุณค่ากับการออกแบบและจัดการศึกษาให้บุตรหลานร่วมกัน
จากความจำเป็นและต้นทุนทางสังคมที่กล่าวไว้ในข้างต้น การที่เราจะกำหนดคุณลักษณะของเด็กได้สำเร็จ ต้องอาศัยกระบวนการในการสอบถามและรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ที่อยู่ในจังหวัดระยอง รวมไปถึงนักขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาในทุกภาคส่วน โดยการกำหนดคุณลักษณะผู้เรียนระยองสู่สากลสามารถสรุปได้ใน 3 ด้าน อันประกอบด้วย
1. ผู้ใฝ่เรียนรู้คู่ทักษะภาษา (Active Learner)ผู้ใฝ่เรียนรู้และมีทักษะภาษาเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์ ต่อยอดองค์ความรู้ของจังหวัดระยองต่อไป การสร้างนักเรียนรู้ที่พร้อมปรับตัวได้กับทุกเปลี่ยนแปลง หากมีทักษะด้านภาษาที่หลากหลาย ก็ยิ่งช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น สร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในระดับชุมชนและจังหวัดระยอง
2. ผู้รู้ใช้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)ผู้รู้ใช้ดิจิทัลสามารถมีหลักคิดในการวิพากษ์และเท่าทันโลกดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีตามแนวทางที่เหมาะสม ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างงานสร้างอาชีพ ไม่หลงเชื่ออะไรโดยง่าย
3. พลเมืองโลกที่มีวินัยและจริยธรรม (Global & Ethical Citizen)ผู้มีวินัย รับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นเป้าหมายในการจัดการศึกษาในบริบทระยอง ร่วมสร้างจังหวัดระยองให้เป็นเมืองน่าอยู่ด้านการศึกษา และเป็นต้นแบบในการผลิตพัฒนากำลังคนสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
image
  • ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บทบาท Policy maker ในประเด็น “พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมจะช่วยเอื้อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดระยองได้อย่างไร ?”
image
จังหวัดระยองถือเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถกล่าวได้ว่า “จังหวัดระยองเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษา หากใครต้องการศึกษาดูงาน สามารถมาดูตัวอย่างที่ระยองได้” สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เริ่มต้นมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีอยู่ 4 ประการ คือ
1. การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ ให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกัน
2. การลดความเหลื่อมล้ำโดยจัดการศึกษาให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้
3. การให้อิสระในการคิดและปฏิบัติเพื่อให้การศึกษามีความคล่องตัวและมีความคิดสร้างสรรค์
4. การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาคีต่าง ๆเพื่อให้การขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปหน่วยงานทางการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอไว้ ซึ่งกล่าวว่า “เราจะเป็นม้าที่ลงจากหลังเต่า” นั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการลดข้อจำกัดทางกฎระเบียบ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรัฐมนตรีมุ่งหวังให้ระบบการศึกษาของประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล ผ่านการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียน การพัฒนาทักษะครูและบุคลากร การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ระบบการศึกษาไม่ล้าหลังและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนในยุคปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยมีประเด็นหลักดังนี้ :
  • พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา:เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น
  • ความร่วมมือ:การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จ
  • เทคโนโลยี:การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน
  • คุณครู:ครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านวิชาการและคุณธรรม จึงต้องได้รับการพัฒนาทักษะและความรู้ของคุณครูอย่างต่อเนื่อง
  • การประเมินการประเมินผลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการศึกษา
    • รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) บทบาท นักขับเคลื่อนภาคเอกชน ในประเด็น “คุณธรรมในผู้เรียนยุคดิจิตอล”
    image
    สภาวะ Aging and Digitalization ในประเทศไทย
    ในยุคปัจจุบันคำถามสำคัญคือ “อะไรที่จะทำให้มนุษย์เหนือว่าหุ่นยนต์” ในขณะเดียวกันเรากำลังเผชิญหน้ากับ Aging and Digitalization โครงสร้างประชากรทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ ในความแตกต่างของอายุอาจทำให้กลุ่มคนในสังคมเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัย แต่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมของในการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย เอื้ออาทร ล้วนแล้วแต่เป็นคุณธรรมที่สัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน การให้ การดูแลเพื่อนร่วมสังคมในยามวิกฤต เป็นสิ่งที่คนไทยได้รับการปลูกฝังและส่งต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม
    คุณธรรมเป็นพฤติกรรมที่จับต้องได้ หากมีกระบวนการในการเรียนรู้ให้เด็กได้ซึมซับเรื่องคุณธรรม เกิดเป็นความรู้สึกดีมีคุณค่าได้ต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย แม้เจอปัญหาอุปสรรค ความยากลำบาก ก็สามารถก้าวข้ามและไม่ท้อถอยต่อปัญหาที่อยู่ตรงหน้า การพัฒนาประชากรที่มีคุณธรรมเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและมีความสุข การส่งเสริมคุณธรรมในทุกมิติของชีวิตจนกลายเป็นนิสัย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในสังคม แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้พลเมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมโลกอย่างมีความสุขและเป็นธรรม
    คุณธรรมกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน
    ดัชนีคุณธรรมกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวัดและประเมินคุณธรรมในระดับบุคคลและสังคม ผลการสำรวจที่น่าสนใจมันคือคนที่จบปริญญาเอกมีคุณธรรมต่ำกว่าคนจบปริญญาตรี สะท้อนให้เกิดคำถามว่าทำไมคนที่มีการศึกษาในระดับที่ดีถึงมีคุณธรรมที่สวนทาง อีกผลสำรวจวเป็นการวัดและประเมินเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 13 – 25 ปี ในประเด็น 5 ด้าน ได้แก่ ความพอเพียง การมีวินัยและความรับผิดชอบ ความสุจริต การมีจิตอาสา และความกตัญญู พบว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือความซื่อสัตย์สุจริต ผลสำรวจในวัยผู้ใหญ่ก็สะท้อนให้เห็นประเด็นด้านคุณธรรมที่เปราะบาง เช่น หากมีใครมอบสิ่งที่ดีหรือทำดีให้ ไม่จำเป็นต้องขอบคุณผู้นั้น หรือการมีหนี้สินแบบขาดการประเมินตนเอง
    นอกจากนี้ยังการสำรวจ Life Assets หรือต้นทุนชีวิตที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเด็ก ข้อค้นพบหักล้างทุกความเชื่อเดิมและสมมติฐานบางเรื่องที่ว่า ถึงพ่อแม่จะมีการศึกษาดี มีความสมบูรณ์พร้อมแต่เลี้ยงลูกให้มีต้นทุนชีวิตต่ำ ก็มีความเสี่ยงที่ลูกจะติดยาเสพติด 3 -10 เท่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ต้อง สำหรับการป้องกันยาเสพติดในวัยรุ่นและเยาวชน กล่าวคือ ต้องมีอนาคต ต้องมีคุณค่า ต้องมีทักษะ และต้องมีแบบอย่าง ถึงจะช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
    รวมไปถึงสถานการณ์ด้านทุนชีวิตที่เป็นพลังบวกของเด็กไทยน่าเป็นห่วงทุกระดับและทุกจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ยิ่งสะท้อนภาพให้เห็นชัดเจนว่าปัจจัยเรื่องต้นทุนชีวิตเป็นส่งผลในการกำหนดทิศทางการเติบโตของเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก จึงขอสรุปเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือต้องพัฒนาคนดีให้ได้ก่อนเป็นคนเก่ง มีทักษะสังคมและจิตสำนึก ประกอบกับการเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่อาชีพ มีคุณธรรมเป็นรากฐานแห่งชีวิต ได้แก่ ความพอเพียง การมีวินัยและความรับผิดชอบ ความสุจริต การมีจิตอาสา และความกตัญญู ถือโอกาสนี้แบ่งปัน Model : I am I have I can การใช้ทุนชีวิตเป็นกงล้อและมอบภูมิคุ้มกันที่ท้าทายเพื่อเพิ่มทักษะ Resilience ในเด็กและเยาวชน ความยืดหยุ่นเกิดได้ถ้าพวกเขาเจอปัญหาที่ท้าทายและมีโอกาสได้ลองจัดการสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง
    การเตรียมพลเมืองให้มีความเข้าใจในบริบทและความท้าทายของโลกยุคใหม่ เป็นการสร้างรากฐานให้พลเมืองสามารถมีส่วนร่วมในสังคมโลกได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การพัฒนาพลเมืองโลกไม่ใช่แค่การเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประเทศต่าง ๆ แต่ยังเป็นการปลูกฝังคุณค่าทางจริยธรรมที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนมีต้นทุนชีวิตและทักษะทางสังคมที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้นอย่างราบรื่นและมีความสุข เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ควรมีอยู่ในการสร้างพลเมือง
    • ดร.สาธิต ปิตุเตชะ ประธานที่ปรึกษกรรมการ สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง (RILA) บทบาท หน่วยงานพัฒนาการเรียนรู้เอกชนท้องถิ่น ในประเด็น “การจัดการศึกษาในบริบทระยองสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม”
    image
    การที่ระยองกลายเป็นจังหวัดต้นแบบในการพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรมไม่ใช่เพียงแค่ผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทุกภาคส่วนในจังหวัด แต่ยังเป็นผลมาจากความสามารถในการดึงดูดความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกอีกด้วย การสร้างความเข้าใจและการมองภาพการพัฒนาที่ตรงกันระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงการใช้กลไกประชาสังคมในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
    กลไกประชาสังคมในระยอง: การทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จ
    การพัฒนาในระดับท้องถิ่นไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากกลไกประชาสังคมในพื้นที่ไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจ หรือเห็นภาพการพัฒนาต่างกัน ความขัดแย้งนี้อาจเป็นเสมือนเบรกที่ทำให้ "รถไฟ" แห่งการพัฒนาช้าลง การเห็นเป้าหมายตรงกัน ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมีการสื่อสารที่ชัดเจนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน
    ข้อได้เปรียบของระยอง: ความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก
    หนึ่งในข้อได้เปรียบของจังหวัดระยองคือความสามารถในการดึงดูดหน่วยงานและองค์กรจากภายนอกจังหวัดเข้ามาร่วมมือกันในการพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรมใหม่ๆ ความร่วมมือนี้เปิดโอกาสให้ระยองสามารถนำความรู้และทรัพยากรจากภายนอกมาปรับใช้กับบริบทของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    การพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ต้องอาศัยความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา หากผู้บริหารมองภาพการพัฒนาไม่ตรงกัน การทำงานร่วมกันจะเป็นเรื่องยากและอาจส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมในพื้นที่ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจและวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ ภาพฝันที่สถาบัน RILA มีคือ เราอยากเห็นเด็กระยองจบไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่อยู่ในหน่วยงานระดับโลก เมื่อไปเติบโตในต่างประเทศพวกเขายังสามารถเล่าเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดระยองได้อย่างครบถ้วน พูดสื่อสารและเข้าใจความเป็นระยองอย่างดี เข้าใจรากฐานของตนเองและต่อยอดสิ่งที่มีในตนเองอย่างสร้างสรรค์ ความยั่งยืนคือ ความพอเพียงและริเริ่มคิดค้นจากตนเอง สิ่งเหล่านี้คือ DNA ที่จะติดตัวลูกหลานของคนระยอง
    ผลประโยชน์ที่จะกลับไปคืนสู่ทุกคนคือสังคมที่มีคุณภาพ เราจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เด็กและเยาวชนในจังหวัดระยองจะเป็นผลผลิตที่ดีจากการพัฒนาผ่านพื้นที่นวัตกรรม หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ดูแลตนเอง ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจต่อไปอย่างยั่งยืน
    • เสวนา “เราจะร่วมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนระยองสู่สากลได้อย่างไร ?”
    image
    1. รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์
    2. รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
    3. ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สพฐ.)
    4. คุณสลารีวรรณ ทัพทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
    5. คุณสมศักดิ์ พะเนียงทอง ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง
    6. คุณปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
  • คุณสมศักดิ์ พะเนียงทอง ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง
  • ทำไมต้องเกิดการกำหนดคุณลักษณะของเด็กระยอง ก่อนหน้านี้เรามีพื้นที่นวัตกรรมที่เป็น Sandbox เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสมัครใจและมีความพร้อม ในปี 2561 เรามีการวางกรอบพัฒนาการศึกษาของคนทุกช่วงวัย แต่ในระหว่างทางเกิดข้อถกเถียงว่าเป้าหมายของการทำสิ่งนี้คืออะไร หัวใจของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ต้องทำให้ทุกภาคส่วนเห็น
    ในขณะเดียวกันพรบ.นวัตกรรมการศึกษาก็ทำงานด้วยตัวของมัน เกิดการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีบทบาทและอำนาจในการจัดการตนเองให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ เป้าหมายมีภาพฝันที่ชัดเจนร่วมกันก่อน พอลงไปทำความเข้าใจความต้องการของคนระยองจริง ๆ พบว่าคนระยองไม่ได้ต้องการให้ลูกหลานเก่งแต่ด้านองค์ความรู้ แต่ต้องการให้พวกเขาเป็นคนดีมากกว่าที่จะเป็นคนเก่ง มีคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้หันกลับมามองทิศทางของการพัฒนาที่คำนึงถึงบริบทของคนระยอง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงบริบทการศึกษาที่จะไปสู่ระดับสากลด้วย ต้องรอบด้านและครอบคลุม ในยุคสมัยนี้ต้องการเด็กที่มีทักษะคิดเชิงวิพากษ์ กล้าตั้งคำถาม รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ และทักษะการจัดการอารมณ์และสังคม จึงเกิดเป็นการผนวกเอาความต้องการของคนระยองและทักษะที่จำเป็นในอนาคต นี้จึงเป็นที่มาของการกำหนดคุณลักษณะเด็กระยองสู่ส่ากลที่เกิดจากระบวนการการมีส่วนร่วมตั้งแต่เด็กและเยาวชน สถาบันครอบครัว ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันคิดและออกแบบร่วมกัน
    หากพูดถึงแนวคิดคนระยอง นอกจากคนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เราต้องไม่ลืมว่าคนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดระยองเหมือนกัน และเราไม่ได้เลือกจะพัฒนาแค่กลุ่มเดียว แต่เราอยากให้คนทุกช่วงวัยได้เข้าถึงการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต ปฐมวัยเน้นปูพื้นฐานการเรียน วัยเรียนก็เรียนอย่างเข้มข้น วัยทำงานต้องมีการเพิ่มทักษะและอัพเดททักษะใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงาน วัยผู้สูงอายุเรียนอย่างมีความสุข ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายจะไม่ใช่คนใดคนนึงแต่เป็นทุกคนทุกช่วงวัยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระยองนั่นเอง
  • คุณปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
  • สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนแรกจากสถานการณ์เด็กเกิดใหม่มีระดับ IQ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและสูงกว่าเกณฑ์ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยมีต้นทุนที่ดีในเรียนรู้และเติบโต แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์ระดับการศึกษาไทยในระดับโลกไม่ค่อยดีและมีแนวโน้มแย่ลง ใน 2 ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาที่มีกำลังทำร้ายเด็กและเยาวชนของตัวเอง
    ส่วนถัดมาคุณภาพการศึกษาสอดคล้องกับระดับรายได้ของคน ถ้าปรับคุณภาพการศึกษาได้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าแรงงาน คนในสังคมจะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 6,000 บาท นอกจากนี้ระยองยังมีกฎหมายพื้นที่นวัตกรรม เป็นกฎหมายพิเศษที่ทำให้เราปรับปรุงการศึกษาของตัวเองได้และทุกองคาพยพมีความต้องการในการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดระยองร่วมกัน สถานการณ์และปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการจัดการศึกษาในบริบทระยอง
    ภาพรวมการเข้ามาลงทุนของประเทศไทยมีความท้าทายอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากขาดบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะเฉพาะทางมากขึ้น ส่งผลให้ต่างชาติไม่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย และมีโรงงานอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศจำนวนมาก
    ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ ในระยองได้เห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการใช้ "กฎหมายพื้นที่นวัตกรรม" เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
  • คุณสลารีวรรณ ทัพทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
  • ในฐานะที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้ สิ่งที่ควรทำลำดับต้น ๆ คือ การเป็นประภาคารส่องแสงนำทางผ่านการสร้างพื้นที่และโอกาสให้ทุกองคาพยพมีส่วนร่วมในการออกแบบร่วมกัน ไม่อยากให้มองแค่ระดับผู้บริหารและนโยบายแต่มุ่งเน้นไปยังการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับ เมื่อเห็นภาพชัดเจนสอดคล้องตรงกัน จะกลายเป็นพลังที่เข้มแข็งเกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
  • ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สพฐ.)
  • ก่อนหน้านี้การพัฒนาระยองอาจมีเป้าหมายที่ไม่ชัดเจนมาก แต่ในปัจจุบันเป้าหมายเหล่านั้นได้ถูกกำหนดอย่างชัดเจนแล้ว ปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งทุกคนได้รู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน องค์ประกอบที่ ดร.สาธิตพูดไว้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวขบวนเป็นคนกำหนดทิศทางชัดเจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสามารถนำไปออกแบบและกำหนดในหลักสูตรการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบระบบและกลไกการศึกษาที่สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านี้ จะช่วยให้ระยองสามารถพัฒนาการศึกษาได้ตรงตามความต้องการของท้องถิ่น การมีองค์ประกอบในการพัฒนาที่ครบถ้วนและทุกภาคส่วนมีความพร้อม เราคงจะได้เห็นความก้าวหน้าของขบวนรถไฟนี้ในอนาคตอันใกล้ไม่ช้าก็เร็ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขของพรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป
  • รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์
  • อะไรคือปัจจัยที่จะเชื่อมให้คนทำงานภาคนโยบายและภาคปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่าจังหวัดระยองเผชิญกับเงื่อนไขที่ท้าทายสูงมากในการพัฒนา หากระยองสามารถประสบความสำเร็จได้ จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยก็ย่อมทำได้เช่นกัน แต่คำถามสำคัญคือ "เชื้อเพลิง" ที่จะขับเคลื่อนความสำเร็จนี้คืออะไร? คำตอบอยู่ที่กลไกเล็กๆ เชื้อเพลิงภายในที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจในเด็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับครู พ่อแม่ และผู้อำนวยการโรงเรียน หากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมีทัศนคติและพฤติกรรมเชิงบวก เด็กก็จะได้รับอิทธิพลและเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพตามแบบอย่างที่เห็น คำถามสำคัญของประเด็นนี้คือเราเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณลักษณะแบบที่เราต้องการได้หรือยัง เมื่อผู้ใหญ่เริ่มทำได้เด็กและเยาวชนก็เกิดการเรียนรู้และบ่มเพาะตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ
  • รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
  • ด้วยความเชื่อร่วมกันว่าถ้าไม่มีการจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่ ไม่สามารถทำให้สิ่งนี้เข้าถึงตัวเด็ก การศึกษาจะไม่มีทางเป็นเครื่องมือที่ยกระดับศักยภาพของเยาวชนได้เลย จนได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่าง พรบ.นวัตกรรมการศึกษา ระยองเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่เราเลือกเพราะต้นทุนทางสังคมและศักยภาพในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา สิ่งที่เป็นจุดแข็งคือทีมของพื้นที่ ภาคเอกชนและท้องถิ่นที่มีความมุ่งมั่น เรายังคงยืนยันที่จะยึดเด็กเป็นหัวใจในการพัฒนา และในความสำเร็จครั้งนี้หากจะถอดเป็นองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ออกเป็นปัจจัยภายใน จะประกอบไปด้วย
    1. ปัจจัยความพร้อมของคนในจังหวัดระยอง อาทิ พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ เป็นปัจจัยภายในที่สำคัญมาก สำเร็จได้หากเกิดกลุ่มคนเหล่านี้เกิดความเข็มแข็ง
    2. ปัจจัยความพร้อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา ตั้งแต่ คุณครู ผู้อำนายการ เขตพื้นที่ สถานศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ร่วมกันวางนโยบายขับเคลื่อยไปในแนวทางเดียวกัน
    เมื่อทั้ง 2 ปัจจัยมีความพร้อมในการขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ เราก็นำปัจจัยเรื่องกฎหมาย พรบ.พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษามาหนุนเสริม กลไกกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับจังหวัดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
    ดังนั้นความสำเร็จตรงนี้ไม่ใช่แค่การสร้างพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างเดียว แต่เป็นการบริหารปัจจัยและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้เห็นเป้าหมายชัดเจนและร่วมขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน ประเด็นที่กำลังขับเคลื่อนนี้ไม่ใช่การทำโครงการเพียงระยะสั้น แต่เป็นภาพฝันระยะยาวที่มีช่วงเวลาในการทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 7 ปีในระยะเวลาเท่านี้สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมการศึกษาของระยองได้จริงและยั่งยืน
    เดิมระยองเป็นเมืองท่าที่มีความเป็นสากลสูงเชื่อมโยงกับนานาชาติมาอย่างยาวนาน แต่คำถามที่สำคัญคือ เด็กๆ ในระยองได้รับโอกาสในการเรียนรู้และซึมซับความเป็นสากลนี้เพียงใด? ในยุคที่ทุกอย่างความจริงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราสามารถเข้าถึงความจริงได้ด้วยตัวเอง แต่ความงามและความดียังเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้คนเกิดความจรรโลง การเชื่อมโยงศักยภาพที่หลากหลายกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เด็กๆ ต้องมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะในการจัดการตนเองและดูแลสังคม ระบบการศึกษาจึงจำเป็นต้องถูกออกแบบเพื่อเสริมสร้างทักษะเหล่านี้เพราะคิดว่าในสังคมของความเป็นสากลต้องมีองค์ประกอบทั้ง ความจริง ความงาม ความดีต้องอยู่ร่วมกันและดำเนินต่อไป ควรเป็นคุณลักษณะของเด็กรุ่นใหม่ที่มีเชื้อเพลิงภายในที่แข็งแรง
    เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนการศึกษาในบริบทระยองสู่สากล: แนวทางภายในและภายนอก
    การขับเคลื่อนการศึกษาในบริบทของจังหวัดระยองให้ก้าวสู่ความเป็นสากลต้องอาศัย "เชื้อเพลิง" ที่ช่วยส่งเสริมพลังและทิศทางในการพัฒนา ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ เชื้อเพลิงภายในและเชื้อเพลิงภายนอก ที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน
    เชื้อเพลิงภายใน: พลังจากภายในสู่การพัฒนาที่มั่นคง
    เชื้อเพลิงภายในเริ่มต้นจากการสร้างเด็กให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยผู้เรียนต้องได้รับการสนับสนุนจากคุณครู ผู้ปกครอง และผู้บริหารโรงเรียน ที่มีคุณลักษณะดีงาม ซึ่งเด็กจะเรียนรู้และซึมซับคุณธรรมและความรู้จากผู้ใหญ่เหล่านี้อย่างเป็นธรรมชาติ องคาพยพด้านการศึกษาจึงต้องใช้จิตสำนึกในการขับเคลื่อน มิใช่เพียงแค่ปฏิบัติตามกฎหมายแต่ต้องมีความตั้งใจจริงในการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพและพัฒนาชีวิต
    ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา โดยการให้ความสำคัญเชิงปฏิบัติจริง การจัดการศึกษามิใช่เพียงเรื่องของงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของการวางแผนอย่างถูกต้อง มีการพัฒนาหลักสูตรที่ดี และฝึกอบรมครูผู้สอนอย่างมืออาชีพ โดยการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก ที่สามารถนำพาระบบการศึกษาไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในพื้นที่ระยองก็เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา เราต้องไม่ท้อแท้และไม่ละทิ้งความพยายามในการสร้างระยองให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์และยั่งยืน
    เชื้อเพลิงภายนอก: พลังสนับสนุนจากภายนอกสู่ความสำเร็จ
    เชื้อเพลิงภายนอกมาจากการสนับสนุนและประสานงานจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการขับเคลื่อนของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (พรบ.) ที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเข้ามาเสริมสร้างระบบการศึกษาในพื้นที่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำและนำพาการปฏิบัติไปในทิศทางที่ถูกต้อง
    กลไกทุกระบบจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ปรับเปลี่ยนภายนอกแต่ต้องเปลี่ยนให้เกิดแนวคิดและการทำงานที่มุ่งเน้นเป้าหมาย การปรับวิธีคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญในการนำพาพื้นที่นวัตกรรมให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาในระยองให้ก้าวสู่ระดับสากล
    เชื้อเพลิงทั้งภายในและภายนอกมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาของระยองให้ก้าวสู่ความเป็นสากล โดยต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน การร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับระยองและเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย
    มหกรรมเปิดโลกปฐมวัย ไทขอนแก่น
    วันจันทร์ ที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 09.00 - 16.00 น.
    โรงแรมพูลแมน อ.เมือง จ.ขอนแก่น
    image
    image
    สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย 15 หน่วยงานจากภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาสังคมร่วมกันสร้างสนามเด็กเล่นและจัดเวทีเสวนา เพื่อระดมความคิดและพลังในการผลักดันการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของเด็กปฐมวัย ครอบครัว ผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในปีนี้มีการริเริ่มศูนย์ปราชญ์ ศาสตร์ศิลป์ ปฐมวัย ไทขอนแก่น หรือ Khon Kaen Early Childhood Teacher Academy เป็นศูนย์ที่รวบรวมเอาวิชาการและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้คุณครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาเด็กของตนเองต่อไปได้ ยกระดับการศึกษาผ่านการพัฒนาครู
    นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการเรียนรู้และพัฒนาเด็กปฐมวัยในจังหวัดขอนแก่น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทาง การศึกษา และพัฒนาระบบการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในจังหวัดขอนแก่นให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
    image
    • ปาฐกถา "ปฐมวัยขอนแก่น ในกระแสความเปลี่ยนแปลงโลก: ทางที่ควรเดิน 6 ปี ก่อนสิ้นสุดวาระ SDGs 2030" ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
    คุณทินสิริ เกริ่นนำด้วยประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยขอนแก่น ประกอบไปด้วย
    1. การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการสร้างรากฐานของพลเมืองและประเทศในอนาคต
    2. ปฐมวัยเป็นยุคทองของการพัฒนาเซลล์สมองและทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิต
    3. เด็กปฐมวัยจำนวนมากในประเทศไทย ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาชีวิตได้อย่างเต็มที่
    จาก 3 ประเด็นนี้เป็นที่มาและความสำคัญของการเกิดงานมหกรรมเปิดโลกปฐมวัย ไทขอนแก่นขึ้น โดยองค์การยูนิเซฟทำงานพัฒนาและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กในหลากหลายมิติ ในปัจจุบันการพัฒนาเด็กปฐมวัยถือเป็นวาระแห่งชาติของทุกประเทศทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยด้วย การ Think Global Act Local คือ มองและคิดในภาพกว้าง ทำกิจกรรมต้องคำนึงถึงบริบทในพื้นที่นั้น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืนของประเทศไทยที่ควรผลักดันอย่างต่อเนื่อง คือประเด็นด้านการศึกษาในระดับปฐมวัย การพัฒนาเด็กในช่วงอายุ 0-5 ขวบ ให้พัฒนาการที่สอดคล้องกับช่วงวัย เหมาะสมทั้งร่างกาย การเรียนรู้ และจิตใจ โดยมีดัชนีพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (Early Childhood Development Index 2030) ประกอบไปด้วย
    1. ด้านการเรียนรู้ วัดและประเมินการรู้ภาษา การรู้ตัวเลข การคิดวิเคราะห์ เป็นต้น
    2. ด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม วัดและประเมินทักษะด้านการจัดการอารมณ์ การแก้ไขปัญหา ในชีวิตประจำวัน การเข้าสังคมและสุขภาพจิต เป็นต้น
    3. ด้านร่างกาย วัดและประเมินความแข็งแรงและประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อทุกส่วน เป็นต้น
    3 อย่างนี้คือตัวบ่งชี้ของความก้าวหน้าของการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ใช้กันเป็นมาตรฐานทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโดยเน้นเฉพาะมาที่จังหวัดขอนแก่น จากการสำรวจยังมีช่องว่างการพัฒนาเด็กปฐมวัยในจังหวัดอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่
    1. สถานการณ์ด้านสุขภาพเด็กปฐมวัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
    • ช่องว่างของเด็กที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการรับวัคซีน โดยในปัจจุบันเด็กปฐมวัย 9 ใน 10 คนได้รับวัคซีนครบถ้วนจริง แต่เด็กส่วนที่เหลือก็ควรเข้าถึงวัคซีนได้อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกัน
    2. สถานการณ์ด้านโภชนาการเด็กปฐมวัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • ด็กยังเติบโตไม่สมวัย สังเกตได้จากจำนวนเด็กที่มีภาวะผอมแห้งเตี้ย แคระ แกร็น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ปกครองไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับโภชนาการ
    3. สถานการณ์ด้านการดูแลเด็กปฐมวัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • ผู้ปกครองเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เด็กขาดการสื่อสารสองทาง จดจำภาษาจากสื่อที่ได้รับ เด็กสื่อสารด้วยภาษาการ์ตูน
    • โอกาสที่เข้าถึงหนังสือสำหรับเด็กมีน้อย โดยเฉลี่ยมีหนังสือสำหรับเด็กไม่เกิน 3 เล่ม/บ้าน
    • เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนมีโอกาสในการการทำกิจกรรมร่วมกับผู้ใหญ่น้อย เช่น อ่านหนังสือ เล่านิทาน เล่นกับเด็ก พาไปเล่นนอกบ้าน วาดรูป เป็นต้น
    • การเข้าเรียนระดับปฐมวัย 3-5 ปี ยังมีช่องว่าง เช่น เด็กยากจนที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบโรงเรียนกลางคัน เป็นต้น
    หลังจากที่เข้าใจภาพรวมสถานการณ์เด็กปฐมวัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ทางที่ขอนแก่นควรพัฒนาต่อไปก่อนจะถึงปี 2030 ซึ่งเป็นปีแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะสิ้นสุดลง ประกอบไปด้วย 3 ประการ ได้แก่
    ประการที่ 1 : ตั้งเป้าหมายและวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กผ่านกรอบการดูแลเด็กปฐมวัยแบบองค์รวม
    image
    ประการที่ 2 : กำหนดทิศทางของนโยบายและกิจกรรมที่ควรขับเคลื่อน
    • เพิ่มการลงทุนในเด็กปฐมวัย
    • บูรณาการโครงการและกิจกรรมทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน
    • เสริมและเพิ่มศักยภาพครูปฐมวัย
    • ให้ความรู้ผู้ปกครองทั้งการดูแล การเสริมพัฒนาการ และการสื่อสารเชิงบวก
    • ดูแลสุขภาพเด็ก ส่งเสริมการให้นมแม่และความรู้ด้านโภชนาการ
    • เพิ่มหนังสือ ส่งเสริมการอ่าน
    • เล่นกับเด็กให้มากขึ้น
    • ลดการให้เด็กเล่นมือถือ
    • เวทีเสวนาเปลี่ยนท้องถิ่นเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานเด็กปฐมวัย 3 ปี เปลี่ยน “ขอนแก่น” ด้วยการลงทุนใหม่ในปฐมวัย
    ในเวทีเสวนามีการแลกเปลี่ยนในประเด็นการลงทุนในกลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมอนาคตผ่านบุคคลที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ประกอบด้วย
    1. คุณกฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น
    2. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
    2. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
    3. ดร. โกเมน กันตวธีระ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น
    4. คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง
    คุณกฤษณา เสมหิรัญได้กล่าวถึงปัญหาและช่องว่างการพัฒนาประชากรเด็ก รวมไปถึงอัตราการเกิดที่ลดลงและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไว้ ดังนี้
    จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก มีจำนวนประชากรเด็กเตรียมปฐมวัย ถึงระดับปฐมวัยอยู่ที่ 3 % ของจำนวนประชากรทั้งจังหวัด ในขณะเดียวกันเด็กในจังหวัดขอนแก่นกลับมีระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) น้อยกว่าสามจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ทั้งที่จังหวัดขอนแก่นก็มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาและทรัพยากรได้มากกว่า นอกจากระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) ยังมีปัญหาด้านโภชนาการและปัญหาพัฒนาการ เช่น ปัญหาสมาธิสั้น ภาวะออทิสติกเทียม ประกอบจังหวัดขอนแก่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว 20 % กลายเป็นประเด็นร่วมที่ทำให้คณะทำงานได้มาขับเคลื่อนร่วมกัน เราจะพัฒนาเด็กที่เป็นทุนมนุษย์อย่างไร ให้เขาเติบโตขึ้นไปดูแลสังคมได้ในอนาคตเป็นโจทย์ที่เราตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่แนวทางในการขับเคลื่อน
    อีกประเด็นที่คณะทำงานต้องยอมรับคือ การทำงานภายใต้ พรบ.การศึกษาหนึ่งตัวที่ทำให้เราเกิดการบูรณาการการศึกษาในจังหวัดได้จริง แต่กระบวนการปฏิบัติยังต้องมีการพัฒนาต่อไปเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตั้งใจ
    บทบาทของหน่วยงานท้องถิ่นตลอดปีที่ผ่านมาที่ถือได้ว่าจังหวัดขอนแก่นทำได้ดีในเรื่องการบูรณาการการทำงานระหว่าง 15 ภาคีเครือข่ายที่จัดการศึกษาและมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยไทขอนแก่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นที่สนับสนุนงบประมาณ เทศบาลนครขอนแก่นที่ควบคุมดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 11 แห่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1-5 ศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศที่มีศึกษานิเทศน์ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ดูแลเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นพี่เลี้ยงให้คณะทำงาน ในหน้างานจริงหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับเด็กในประเด็นความถนัดของใครก็สามารถส่งต่อและดูแลเด็กได้ทันที คุณครูมีกำลังใจ เด็กเรียนดี มีความสุข
    ถัดมา ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า
    สำหรับกลุ่มเปราะบางในจังหวัดขอนแก่นสิ่งที่ต้องเข้าใจและอยากสะท้อนให้เห็นก่อนคือฐานะครัวเรือนที่ส่งผลต่อพื้นเพของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการดูแลบุตรหลาน เกือบ 60% ของงบประมาณ กสศ. ต่อปี จะมีการบริหารจัดการงบประมาณสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนพิเศษ โดยส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจำนวนเงินนี้จะต้องคลอบคลุมการดำเนินชีวิตในทุกมิติ
    image
    image
    จากข้อมูลจะพบว่า จำนวนนักเรียนยากจนจังหวัดขอนแก่นเพิ่มขึ้นในทุกปีและอำเภอเมืองขอนแก่น มีจำนวนนักเรียนยากจนสูงสุด อาจกล่าวได้ว่าด้วยความเป็นเมืองใหญ่ มีจำนวนประชากรแฝงในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดเป็นจำนวนที่สูงสุด อย่างไรก็ตาม กสศ.ให้ความสนใจกับตัวเลขเหล่านี้ เนื่องจากมันสามารถทำนายได้ว่าถ้าครอบครัวไม่พร้อมก็มีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันเราก็คาดหวังให้งบประมาณที่เราสนับสนุนไปให้จะช่วยลดความเสี่ยงของการหลุดออกจากระบบ เช่น สนับสนุนให้เด็กมีการเดินทางมาถึงโรงเรียนให้ได้และอาหารเช้าที่จะช่วยให้มีพลังกายพลังสมองในการเรียนรู้ เป็นต้น
    image
    กลับมาที่กระบวนการทำงานของกสศ.และทุกภาคส่วน ถือได้ว่าคุณครูเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นได้จริง ปัญหาของระบบการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลคือการมีคุณครู 1 ท่านแต่สอนทุกช่วงชั้นหรือหลากหลายวิชา คุณครูมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านคณิตศาสตร์แต่จำเป็นต้องสอนวิชาอื่นๆ ที่ตนเองอาจจะไม่ถนัดด้วย คุณสมบัติคุณครูที่ชุมชนมีความต้องการเฉพาะสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลนี้จึงเกิดเป็นโครงการครูรักษ์ถิ่นขึ้น ทั้งนี้จังหวัดขอนแก่นได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เข้ามาช่วยเติมเต็มการบ่มเพาะคุณครู ออกแบบหลักสูตรที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ใครที่เรียนในสาขาประถมศึกษาจะมีการเพิ่มรายวิชาปฐมวัยเข้าไปเสริม เพื่อให้นักศึกษามีองค์ความรู้ครอบคลุมรอบด้านสามารถนำไปใช้ในการทำงานจริงเมื่อบรรจุเป็นข้าราชการได้ทันที ถึงแม้ว่าจังหวัดขอนแก่นจะมีสถิติของนักเรียนยากจนพิเศษในจำนวนที่น่าเป็นห่วง แต่เราก็กำลังบรรเทาปัญหาด้วยระบบบ่มเพาะครูซึ่งเป็นทางออกในการทำงานผ่านคุณครูรุ่นใหม่ นอกจากโครงการครูรักษ์ถิ่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาประเทศไทย ยังมีโครงการบ่มเพาะคุณครู เช่น โครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถเฉพาะเข้าไปสอนในโรงเรียนที่มุ่งเน้นความถนัดด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือโครงการเพชรในตมในสังกัด กอรมน. กสศ.ได้มีโอกาสชวนคณะทำงานของโครงการเหล่านี้มาหารือและวางแผน การบูรณาการการผลิตคุณครูในระบบปิดเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทำงานที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
    image
    image
    image
    ดร. โกเมน กันตวธีระ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า โรงเรียนในสังกัดที่เทศบาลนครขอนแก่นดูแลอยู่มีจำนวน 11 โรงเรียน แบ่งเป็นเด็กจำนวน 8,000 กว่าคน และคุณครูจำนวน 700 กว่าคน ก่อนหน้านี้เกิดภาวะจำนวนเด็กลดลงเกือบทุกโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้บริหารได้กลับมาทบทวนประมวลผลถึงทิศทางในการจัดการให้โรงเรียนในสังกัดยังคงดำเนินต่อไปได้ ใช้กลยุทธ์การจัดการศึกษาแบบ Cluster School แบ่งกลุ่มโรงเรียนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก เลือกหลักสูตรในการจัดการศึกษา ให้เหมาะสมกับกลุ่มเด็ก ได้แก่
    1. กลุ่มที่มุ่งเน้นด้านวิชาการเป็นหลัก ประกอบไปด้วย
    • โรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่น จัดการศึกษาในระดับอนุบาล
    • โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา
    • โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จัดการศึกษาในระดับมัธยม
    2. กลุ่มที่มุ่งเน้นด้านกีฬาและอาชีพ ส่งเสริมจนสามารถเข้าแข่งขันเป็นตัวแทนระดับชาติ
    3. กลุ่มที่มุ่งเน้นด้านทักษะชีวิต เนื่องจากบริบทพื้นที่และพื้นฐานของครอบครัวที่ไม่สามารถเรียนต่อในด้านวิชาการได้อย่างต่อเนื่อง เราจะส่งเสริมให้เด็กเรียนในสายอาชีพเพื่อสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ทันที
    สุดท้ายกลับมาที่เด็กปฐมวัยนั่นคือ โรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่น เราก็มีการสร้างและปรับปรุงอาคารเรียน จัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กภายใต้ความเชื่อว่า การวางรากฐานที่ดีตั้งแต่ปฐมวัยจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพประชากรในอนาคต มุ่งเน้นให้เด็กเกิดทักษะ EF ทั้ง 9 ด้าน ซึ่งเป็นการพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ควบคุมเรื่องความจำ การมีสมาธิจดจ่อ การคิดวางแผน การแก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น การคาดการณ์ การคำนึงถึงผลที่ตามมา ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และช่วยให้สามารถควบคุมตนเองได้ นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันเรื่องโภชนาการอาหารและสุขภาพองค์รวม มีโครงการสนับสนุนให้แม่ครัวประจำโรงเรียนทำอาหารเช้าฟรีสำหรับเด็กที่ไม่มีโอกาสและส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่นดื่มนมตอนเช้า ดร. โกเมน กันตวธีระ เสริมเพิ่มเติมว่า หากการบริหารจัดการศึกษาลักษณะดังกล่าวตอบโจทย์ผู้ปกครองในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่นและมีจำนวนเด็กที่มากพอ ทางเทศบาลนครขอนแก่นก็มีโอกาสจัดตั้งและขยายผลให้เกิดโรงเรียนอนุบาลที่มีแนวทางในการบริหารลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน
    ปิดท้ายด้วยคุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) ที่กล่าวถึง การสร้าง Smart City ผ่านการสร้าง Smart People ด้วย Smart Education ปัญหาของประเทศไทยเราคือ งานพัฒนาระยะยาวไม่ค่อยมีใครทำ เช่น งานพัฒนาเมืองต้องเป็นงานระยะยาว เราจึงจัดตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) เพื่อสร้างแผนพัฒนาเมืองในระยะยาวของจังหวัดขอนแก่นขึ้น ตอนนี้ก็มีแผนพัฒนา 20 ปี ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่างกฎหมาย พรบ.การศึกษาแบบบูรณาการจนเกิดขึ้นแล้ว
    ปัญหาที่ทั้ง 3 ท่านได้กล่าวมาข้างต้นเป็นผลมาจากการที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาเหลือ ไม่มีอารมณ์เหลือ ไม่มีใจเหลือที่จะมาพัฒนาศักยภาพลูกตัวเองเพราะต้องทุ่มเทให้การเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ปัญหาความยากจนยังคงเป็นสาเหตุหลักของประเทศไทย ดังนั้นเป้าหมายระยะยาวของจังหวัดขอนแก่นมีเพียง 3 เรื่อง ได้แก่ ลดความยากจน สร้างความโปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมของโอกาส เช่น การศึกษา กรอบการพัฒนาขอนแก่นจะอยู่ภายใต้ความเป็นเมือง Smart City ภายใต้ร่มใหญ่ก็จะมีคำว่า Smart People ในแผนของ Smart People ทั้งหมดก็จะมีคำว่า Smart Education อยู่ด้วย
    ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาขอนแก่นพัฒนาเมืองได้รับทุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายภาคีมาขับเคลื่อน Khon Kaen Learning City แต่ติดปัญหาเรื่องความต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านของแหล่งทุน พอเปลี่ยนมาทำกับหน่วยงานท้องถิ่นขับเคลื่อนเรื่อง Life Long Learning เราอยู่ขอนแก่นขับเคลื่อนร่วมกันกับหน่วยงานในท้องถิ่นเช่น เทศบาล อปท. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า มูลนิธิเพื่อการศึกษาขอนแก่นครบ 200 ปี พ.ศ.2540 เป็นต้น มันไม่จำเป็นต้องเป็นทางการมาก ทุกอย่างเป็นไปอย่างยืดหยุ่นและรวดเร็ว หากต้องเอาความเป็นทางการมาพัฒนาให้เกิดเป็นความต่อเนื่องระยะยาว โอกาสที่จะสำเร็จเป็นไปได้ยากมาก กลายเป็นว่าการขับเคลื่อนกับหน่วยงานในท้องถิ่นเรื่อง Life Long Learning มันเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ร่วมมือกับคนที่มีความพร้อมและมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเหมือนกัน ประกอบกับมีทีมงานที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ที่ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในโครงสร้างแต่เรามีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ การศึกษาของขอนแก่นเพื่อคนขอนแก่น ถ้าทำได้นั่นคือการกระจายอำนาจในการจัดการตนเองอย่างแท้จริง ในอนาคตเราไม่ได้ปฏิเสธการรับทุนจากหน่วยงานภายนอกยังคงตอบรับตามโอกาสที่เหมาะสมเพียงแต่ต้องการจะสื่อสารว่า หากวันหนึ่งไม่ได้รับทุนเหล่านั้นแล้ว เราก็ยังสามารถขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดขอนแก่นตามเป้าหมายที่ตั้งใจได้อย่างต่อเนื่อง
    นอกจากนี้เรากำลังเชื่อมโยงสิ่งที่ทำมาต่อเนื่องกับนโยบายของ อว.เรื่อง Credit Bank การสะสมชั่วโมงการเรียนรู้เพื่อแลกรับหน่วยกิตได้ทั้งในระดับมัธยมศึกษา ปวช./ปวส. และสถาบันอุดมศึกษา โดยมีหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันและอนาคตให้เลือกเรียน ตอนนี้ขอนแก่นเป็นหนึ่งในสมาชิก Learning City ของโลกเรียบร้อย เรากำลังร่วมมือกับภาคีผลักดันเอาหลักสูตรต่าง ๆ ส่งเข้าประกวดเพื่อรับเงินทุนมาต่อยอดโครงการด้านการศึกษาตามแนวคิดที่ว่า “เด็กอยากเรียนต้องได้เรียน” เราเชื่อว่าทุกคนรักลูกหลานของตนเองและในบางครั้งการพัฒนาตามรูปแบบเดิมอาจไม่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยอีกต่อไป การปรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ ๆ อาจสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่แท้จริงได้มากกว่า
    • พิธีกรเปิดวงเสาวนา เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังเข้ามาแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม และอื่น ๆ
    1. นายประชารัฐ โนนทนวงษ์ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่น
    แสดงความคิดเห็นไว้ว่า โรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่นเป็นหนึ่งใน Cluster ที่มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นความเป็นวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กสู่การพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการ เพราะฉะนั้นเราได้นำแนวคิดการพัฒนาสมอง EF มาปรับใช้ด้วยกระบวนการและเครื่องมือที่หลากหลาย เรามีต้นทุนเป็นเครือขายที่ดีที่ร่วมเดินทางขับเคลื่อนเพื่อเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะเครือข่ายปฐมวัย ไทขอนแก่น รวมถึงมีการเผยแพร่องค์ความรู้ให้เครือข่ายโรงเรียนต่าง ๆ ที่มาศึกษาดูงานให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้ ต่อยอดการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยอย่างเป็นวงกว้าง ผู้บริหารของเราเริ่มต้นที่เด็กก่อน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่นเปิดโอกาสให้เด็กทุกชนชั้นสามารถเข้ามาเรียนได้เพื่อเป็นการรองรับความเท่าเทียม เรายังจัดกระบวนการที่เข้มข้น มีกระบวนการนิเทศก์และติดตาม วัดและประเมินผลจากหลายภาคส่วนที่สำคัญความเป็นเครือข่ายของจังหวัดขอนแก่นเราเข็มแข็งมาก ๆ ทั้ง 15 องค์กร
    2. นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น
    แสดงความคิดเห็นไว้ว่า เราเป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคม แนวทางที่เราจะทำคือการประสานพลังร่วมมือกับภาครัฐ อันนี้คือความท้าทาย โดยบทบาทของการขับเคลื่อนอาจไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรงแต่เรามีหน้าที่หนุนเสริม เช่นในวันนี้เรามาหนุนเสริมให้ศึกษาธิการจังหวัด ให้กสศ.ให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น แต่ด้วยวิธีการที่ใหม่กับบริบทประเทศไทย บางครั้งภาครัฐอาจมองว่ามันเหมาะสมจริงหรือไม่ สุดท้ายยังคงยืนยันเจตนารมณ์และเป้าหมายของเราว่า ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจนเพื่อให้ทุนมนุษย์ของจังหวัดขอนแก่นได้เข้าถึงการพัฒนาในแบบที่ควรจะเป็น
    3. นายฐณวัฒน์ ฉัตรวุฒิรัศมิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
    แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ในช่วงที่อยู่ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาตั้งแต่ปี 2558-2562 ด้วยนโยบายขอรัฐบาลที่ต้องการให้ยุบและควบรวมเนื่องจากจำนวนเด็กของเราน้อยลง ด้วยเรื่องของอัตราการเกิดที่น้อยลงคู่กับความเหลื่อมล้ำ ความพร้อมของครอบครัว คนที่มีความพร้อมมากกว่าก็สามารถเข้าไปเรียนในตัวเมืองได้ แต่คนที่ยากจนไม่มีความพร้อมมากพอเหมือนโดนทอดทิ้งไว้ข้างหลัง โรงเรียนประจำหมู่บ้านก็ถูกลดจำนวนลง หมุดหมายของผมคือจะทำอย่างไรเพื่อที่จะสร้างโอกาสให้กับโรงเรียนบ้านบะแคที่อยู่ชายขอบให้ได้รับโอกาสเหมือนโรงเรียนสาธิตที่อยู่ในเมืองขอนแก่น ผมมองเห็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ได้รับความอนุเคราะห์ให้สามารถถ่ายโอนต้นสังกัดมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จากแต่ก่อนที่มีเด็กจำนวนเพียงแค่ 41 คน ในปัจจุบันมีเด็กจำนวน 327 คน อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคี ทุกภาคส่วน เราจะไม่มีการแบ่งสังกัดทุกคนมีหน้าที่ขับเคลื่อนเด็กขอนแก่นของพวกเราให้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะ EF เด็กจะต้องคิดเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่ในสังคมเป็น และสุดท้ายเด็กจะต้องมีความสุขเป็น เป็นแนวทางที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายกันต่อไป สุดท้ายนี้ทุกคนต่างเห็นคุณค่าของการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพราะเป็นวัยทองของการพัฒนา หากแต่ย้อนกลับไปดูการจัดสรรงบประมาณรายหัวตลอดทั้งปี เด็กปฐมวัย 1 คน ได้รับการดูแลอยู่เพียง 1,700 บาท/ปี เฉลี่ยต่อวัน ตกวันละ 8-9 บาท หากทุกคนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยอยากให้เกิดการลงทุนในเด็กเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
    4. ดร.ภัทรานิษฐ์ พี่เลี้ยงในการบ่มเพาะครูในโครงการครูรักษ์ถิ่น
    แสดงความคิดเห็นไว้ว่า จุดเริ่มต้นคือเราสนใจเรื่อง EF ตัดสินใจเข้าไปที่ศึกษาธิการจังหวัด เจอคุณกฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น พบว่ามีแนวคิดเรื่อง EF และจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เหมือนกัน การปลูกฝังเด็กต้องทำตั้งแต่เล็ก สังคมคือนิเวศที่เป็นส่วนสำคัญผู้ในการดูแลเด็ก หากมีการเตรียมความพร้อมของสมองผ่านการดูแล ที่เอาใจใส่ โตขึ้นมาก็จะมีต้นทุนที่ดีในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อไป
    ตอนนี้มีเด็กที่ผ่านกระบวนการ EF ไปแล้ว 3 รุ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เทศบาล อบจ. หรือ ศพด. ถือเป็นความโชคดีที่ได้เจอคนที่คิดเหมือนกันมาเจอกันพร้อมขับเคลื่อนลงทุนลงแรง วันนี้จังหวัดขอนแก่นเป็นเหมือนต้นแบบสำคัญที่จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจและเห็นความสำคัญในการจัดการศึกษา เชื่อมั่นในหลักการที่ว่า ก่อนจะไปเป็น Global Local ต้องสำเร็จก่อน
    5. อาจารย์สุขุมา เอการัมย์ พี่เลี้ยงในการบ่มเพาะครูในโครงการครูรักษ์ถิ่น
    แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ต้องขอขอบคุณ กสศ. เป็นความท้าทายของคณะศึกษาศาสตร์ มข. อย่างมากในการเลือกเฟ้นหาเด็กที่จะเข้ามาร่วมโครงการครูรักษ์ถิ่น เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาพอได้รับโอกาสที่ดี เราก็อยากจะช่วยเหลือดูแลเขาอยู่เบื้องหลังเรื่อย ๆ เด็กรุ่นนี้จะเรียนหนักกว่าสาขาอื่น เนื่องจากเรียนควบตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงประถมศึกษา ความยากของเราคือการต้องฟูมฟักเด็กในโครงการครูรักษ์ถิ่นมากกว่าเด็กทั่วไปที่เข้ามาเรียนในคณะนี้ เพราะพวกเขาอาจมีต้นทุนที่น้อยในช่วงเริ่มต้นแต่เขามีความตั้งใจและอดทนพยายาม เรามีหน้าที่เติมเต็มในส่วนนี้เป็นต้นแบบที่ดีเพื่อให้เขาเรียนรู้และซึมซับสิ่งที่ดีที่สุดไป
    6. คุณปรียานุช ป้องภัย ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
    แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมว่าการเปิดไทขอนแก่นเป็นการเปิดมุมมอง ขยายภาพกว้างของการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้สูงมาก มีข้อเสนอต่อหน่วยงานส่วนท้องถิ่นขอนแก่น ภายใต้อัตราการเกิดที่น้อยลง คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก อัตราผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นคือปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ขอฝากข้อเสนอไว้ ดังนี้
    1. เด็กปฐมวัยทุกคน ควรได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กจำนวน 600บาท/เดือน อย่างถ้วนหน้า
    2. เด็กปฐมวัยทุกคน ควรได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กจำนวน 3,000บาท/เดือน ตามบริบทค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
    3. ศูนย์เด็กเล็กควรมีการปรับเวลาการปิดเปิดให้สอดคล้องกับอาชีพของผู้ปกครอง
    4. การขยายฐานอายุการรับเข้าเด็กของศูนย์เด็กเล็ก มีมาตรฐานในการดูแล การกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อให้พ่อแม่อุ่นใจคลายกังวลเรื่องการดูแลเด็กและการประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว หากสามารถผลักดันตรงนี้ได้อาจช่วยเพิ่มความต้องการในการมีลูกของพ่อแม่ในอนาคตได้
    นอกจากนี้จะส่งเสริมให้เกิดแนวคิดการสร้างนิเวศการดูแลเด็กที่ไม่ใช่แค่ 1 คน มี 1 ครอบครัวดูแลเพียงอย่างเดียว แต่เด็ก 1 คน เราในชุมชนและสังคมต่างมีส่วนช่วยให้เขาได้เติบโต เรียนรู้ด้วยเช่นเดียวกัน
    • ชวนฟังข้อสรุปเวทีระดมข้อเสนอ 3 ปีเปลี่ยนขอนแก่น ด้วยการลงทุนใหม่ในปฐมวัย พิธีกรตั้งคำถามกลับมาบนเวทีเสวนา ก้าวย่างต่อไปที่ไทขอนแก่นเลือกเดินเป็นอย่างไร ?
    1. คุณกฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น
    ก้าวย่างที่ถัดไป มองว่าความเข็มแข็งทั้ง 15 ภาคีเครือข่ายตอนนี้เราเริ่มก่อการ Teacher Academy ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ ปฐมวัยไทขอนแก่น นี้คือสิ่งที่อยากจะทำหลังจากนี้ ร่วมมือกับ Thai PBS และเครือข่ายทั้งหมด โดยต้องการให้เป็นแหล่ง Up Skill Re-Skill คุณครู จากการเรียนมาสู่การทำงานที่แท้จริงให้เขามีสมรรถนะ เรามองว่าหัวใจของการลงทุนสู่เด็กคือครู เพราะฉะนั้นถ้าคุณครูมีสมรรถนะในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ทุกสังกัดเข้ามาศูนย์นี้เพื่อพัฒนาตัวเองได้ตามความต้องการ เราเน้นดึงครูที่มีศักยภาพในแต่ละศาสตร์มารวมกันไว้ให้ได้มากที่สุด ก้าวย่างตรงนี้จะเป็นก้าวสำคัญของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่นสู่สภาการศึกษาปฐมวัยจังหวัดขอนแก่น สุดท้ายข้อเสนอคือจะทำอย่างไรให้มีคุณครูครบชั้นเรียนในจังหวัดขอนแก่น หากปัญหานี้ยังคงอยู่ก็จะส่งผลให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ได้คุณภาพ การพัฒนาเด็กปฐมวัยก็ไม่สามารถเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้
    2. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก้าวย่างถัดไปที่พอดำเนินการต่อไปได้หลังจากการฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายมี 3 ประเด็น
    • เรื่องอาหารและโภชนาการครบถ้วนทุกมื้อ งบประมาณเพียงพอ
    • เรื่องการผลิตและพัฒนาครูที่มีทั้งความรู้และทักษะสามารถนำไปสอนเด็กได้อย่างเหมาะสม
    • ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นกับชุมชน ใส่ใจ จริงใจ ถ้าโรงเรียนเป็นแรงจูงใจให้ครอบครัวได้ ครอบครัวก็จะหันกลับมาใส่ใจในการดูแลลูกอีกที
    3 ประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ริเริ่มขึ้นมาในระดับพื้นที่และส่งต่อในเชิงนโยบาย ทำงานวิชาการสนับสนุน กสศ.ก็ยินดีสนับสนุนและทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายชาวขอนแก่น
    3. ดร. โกเมน กันตวธีระ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น
    ก้าวย่างถัดไปของเทศบาลก็ได้มีการถ่ายโอนกระจายอำนาจของโรงเรียนเด็กปฐมวัยมาเรียบร้อยอปท.ต่าง ๆ หากมีความพร้อมด้านงบประมาณก็ยอมรับให้มีการถ่ายโอนสังกัดจนเกิดการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาได้ต่อไป ปัญหาหลักของ อปท.ส่วนใหญ่คือการบริหารจัดการงบประมาณ เนื่องจากบางครั้งต้องนำงบประมาณไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ก่อน ส่งผลให้งบประมาณด้านการศึกษาถูกแบ่งสรรปันส่วนไป อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือมีการจำกัดจำนวนบุคลากรและขาดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ หากมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบการทำงานให้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ได้ ก็จะช่วยให้อำนาจการขับเคลื่อนและหนุนเสริมของ อปท.มีพลังมากขึ้น
    4. คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง
    ก้าวย่างถัดไป คือการดูแลและจัดการ Ego ของพวกเราด้วยกันเอง อยากให้ทุกภาคีทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันว่านี้คือความสำเร็จของเราทุกคน และไม่ต้องพยายามสร้างโครงสร้างในการทำงานเข้ามาจำกัดกรอบในการทำงาน ความไม่เป็นทางการของพวกเราเป็นคุณสมบัติที่ทำให้การทำงานขับเคลื่อนเกิด ความยืดหยุ่น รวดเร็ว สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที โครงสร้างที่เราวางไว้ให้ขอนแก่นคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอยากให้ขอนแก่นเดินต่อไปได้ด้วยตัวเอง เพื่อเมือง เพื่อเด็กขอนแก่นของเรา
    กล่าวโดยสรุปงาน มหกรรมเปิดโลกปฐมวัย ไทขอนแก่น เป็นการนำเสนอผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาต้นแบบ เสริมพลัง สร้างสรรค์การพัฒนาเด็กปฐมวัยในจังหวัดขอนแก่น โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการร่วมมือของ 15 ภาคีเครือข่ายจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาเด็กทุกด้าน เช่น สุขภาพ โภชนาการ และการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในการเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งการทำงานที่เน้นบูรณาการงานจากหลายฝ่ายเพื่อสร้างอนาคตของเด็กและสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาและ ทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพในอนาคต