โครงการ “เติมไอเดีย เติมไฟให้ ‘ครูเจ๋ง’ ได้ในห้องเรียน”
โครงการ “เติมไอเดีย เติมไฟให้ ‘ครูเจ๋ง’ ได้ในห้องเรียน”
ณ สถานีโทรทัศนไทยพีบีเอส
โดย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ
แห่งประเทศไทย
image
วงเสวนา “ห้องเรียนแบบไหนที่ใช่ สำหรับห้องเรียนรวม”
แขกรับเชิญ
1. ผศ.ดร. พัชรินทร์ เสรี ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อาจารยประจำ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล
2. คุณกรกนก ศิริวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมิกวิทยา
3. คุณสุธีรา สิริธิติ ครูโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย สพป.เชียงใหม่ 2
4. คุณอนุสรณ์ นิลโฉม อดีตครูโรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า
image
การเรียนรวมและการเรียนร่วมเป็นแนวคิดด้านการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกันสำหรับนักเรียนทุกคน แต่มีความแตกต่างที่สามารถอธิบายได้ ดังนี้
โดยการเรียนรวม (Inclusive Education) จะมีเป้าหมายคือการสร้างระบบการศึกษาที่เปิดรับและตอบสนองความต้องการของนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมุ่งเน้นการให้ทุกคนได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนทั่วไปหรือมีความต้องการพิเศษโรงเรียนและครูปรับการสอนให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความหลากหลาย เช่น การปรับหลักสูตร การปรับวิธีการสอน หรือการจัดหาทรัพยากรเสริมสร้างความเท่าเทียมในโอกาสการเรียนรู้ ไม่แยกนักเรียนออกเป็นกลุ่มเฉพาะ
ส่วนการเรียนร่วม (Integration Education) มีเป้าหมายคือการจัดการศึกษาที่ช่วยให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษสามารถเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนทั่วไปในบางกิจกรรมหรือบางชั้นเรียน นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษจะเข้าร่วมกับนักเรียนทั่วไปในบางโอกาส เช่น การเรียนบางวิชา หรือกิจกรรมกลุ่ม มีการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ครูช่วยสอนหรือโปรแกรมเสริม แต่ยังแยกตัวในบางส่วนของหลักสูตร การเรียนร่วมไม่ได้หมายความว่านักเรียนทุกคนต้องเรียนในสภาพแวดล้อมเดียวกันตลอดเวลา
ในปัจจุบันห้องเรียนรวมและห้องเรียนร่วมมีความยืดหยุ่นตามบริบทสูง สามารถแบ่งประเภทย่อยตามบริบทของการเรียนการสอนและความต้องการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเลือกรูปแบบและแนวทางการจัดการเรียนการสอนคือการเข้าใจพื้นฐานพัฒนาการของเด็ก คอยติดตามพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับรูปแบบและแนวทางให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษสามารถเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนทั่วไปในบางกิจกรรมหรือบางชั้นเรียน เนื่องจากนักเรียนทั่วไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ เป็นต้น
image
image
image
image
ในประเทศไทยการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมุ่งเน้นการตอบสนองต่อ ความหลากหลายของเด็ก เด็กที่มีลักษณะเบี่ยงเบนจากเกณฑ์ปกติของเด็กปกติในเชิงลบ หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่อง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกประเภทไว้ 9 ประเภท ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ. 2552 ดังนี้
1. เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการมองเห็น เช่น สายตาพิการ บอดสนิท หรือมีความบกพร่องทางสายตาจนต้องใช้สื่อหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษ
2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมด (หูหนวก) ซึ่งอาจต้องใช้ภาษามือ อุปกรณ์ช่วยฟัง หรือวิธีการสื่อสารอื่น ๆ
3. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการทางสติปัญญาหรือเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (IQ ต่ำกว่า 70) ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ และการปรับตัวในชีวิตประจำวัน
4. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ หมายถึง เด็กที่มีปัญหาทางร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ความพิการทางการเคลื่อนไหว โรคเรื้อรัง (เช่น โรคลมชัก โรคหัวใจ) หรือภาวะที่ต้องการการดูแลทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
5. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (SLD) หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องเฉพาะด้านในการเรียนรู้ เช่น การอ่าน (Dyslexia) การเขียน (Dysgraphia) หรือคณิตศาสตร์ (Dyscalculia) โดยไม่ได้เกิดจากสติปัญญาหรือลักษณะอื่น ๆ ที่บกพร่อง
6. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการสื่อสารด้วยการพูดและการใช้ภาษา ทั้งในด้านการเข้าใจและการแสดงออก ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับการพูดคำศัพท์ การสร้างประโยค หรือการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน
7. เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ การแสดงออกทางพฤติกรรม หรือมีปัญหาทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น (ADHD) หรือภาวะซึมเศร้า
8. เด็กออทิสติก หมายถึง เด็กที่มีความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม การสื่อสาร และพฤติกรรม (Autism Spectrum Disorder หรือ ASD) โดยระดับของอาการอาจแตกต่างกันตั้งแต่เบาไปจนถึงรุนแรง
9. เด็กพิการซ้ำซ้อน หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องหรือความพิการมากกว่าหนึ่งด้าน ซึ่งความพิการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ และการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กอย่างชัดเจน ตัวอย่างของความพิการซ้ำซ้อนที่พบได้ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและการได้ยินร่วมกัน หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมกับความบกพร่องทางร่างกาย เด็กพิการซ้ำซ้อนมักมีลักษณะเฉพาะ ดังนี้
9.1 ความบกพร่องหลายด้าน มีความบกพร่องทั้งทางร่างกายและสติปัญญา หรือทางประสาทสัมผัส เช่น การมองเห็น การได้ยิน รวมถึงปัญหาทางการพูดและภาษา อาจมีภาวะสมาธิสั้น (ADHD) หรือปัญหาด้านพฤติกรรมร่วมด้วย
9.2 การเรียนรู้และพัฒนาการล่าช้า เด็กกลุ่มนี้มักพบความล่าช้าในทุกด้านของพัฒนาการ เช่น การสื่อสาร การเข้าสังคม หรือการดูแลตนเอง มีปัญหาในการรับรู้และทำความเข้าใจข้อมูลที่ซับซ้อน
โดยในเด็กวัยเรียนกลุ่มที่มีอาการมากเป็นอันดับหนึ่งคือ เด็กกลุ่มสมาธิสั้น (ADHD) และรองลงมาคือ เด็กที่มีความบกพร่องเฉพาะด้านในการเรียนรู้ (LD) พบประมาณ 4-6% ของเด็กในวัยเรียน และมักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถเข้ารับการรักษา กระตุ้น และปรับพัฒนาการให้กลับมาเทียบเท่าเด็กปกติได้ หากมีการดูแลและออกแบบแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องตามกลุ่มอาการที่เด็กเป็น
กลุ่มอาการอีกประเภทหนึ่งที่ยังไม่ได้ถูกจัดอยู่เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั้ง 9 กลุ่ม เนื่องจากเป็นภาวะที่สามารถดูแลและกระตุ้นได้ คือกลุ่มเด็กปัญญาทึบมีอาการที่คล้ายกับกลุ่มปัญญาอ่อนและกลุ่มการบกพร่องทางการเรียนรู้ ในความจริงแล้วหากมีการกระตุ้นพัฒนาการจากบุคคลรอบตัวทั้งผู้ปกครองและคุณครู เด็กก็มีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้แต่อาจจะมีจังหวะการเรียนรู้ที่ช้ากว่า ต้องคอยเสริมและย้ำมากกว่าเด็กทั่วไป เป็นต้น
การเล่นของเด็กมีความสำคัญมาก ในปัจจุบันผู้ปกครองและโรงเรียนเร่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้เป็นค่านิยมที่สะท้อนถึงความมีความสามารถ ในความเป็นจริงแล้วหากพื้นฐานด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ของเด็กยังไม่พร้อมก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเรียนรู้ขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นการเล่นจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่เตรียมความพร้อมให้วัยเด็กก่อนเข้าสู่วันเรียน เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาทางด้านต่างๆ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ ซึ่งมีผลดีต่อการเติบโตของเด็กในหลายด้าน
1. พัฒนาทักษะทางร่างกาย : การเล่นช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและพัฒนากล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการเล่นที่ต้องใช้การเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง กระโดด หรือการเล่นกีฬา ที่ช่วยพัฒนาความคล่องตัวและประสาทสัมผัส หากอวัยวะแต่ละส่วนของเด็กแข็งแรง เช่น กล้ามเนื้อปากแข็งแรงจะส่งผลให้เด็กอ่านออก พูดคล่อง กล้ามเนื้อมือแข็งแรงจะส่งผลให้เด็กเขียนได้เพราะเขาควบคุมกล้ามเนื้อมือของเขาได้ เป็นต้น
2. พัฒนาทักษะทางสังคม : การเล่นเป็นโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งการแบ่งปัน การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาหรือการต่อรอง ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อสาร
3. พัฒนาทักษะทางจิตใจและอารมณ์ : การเล่นทำให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึกและความคิด ผ่านการสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การเล่นยังช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ และฝึกฝนการรับมือกับความล้มเหลวหรือความท้าทาย
ยกตัวอย่างกลุ่มเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (ADHD) มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นพัฒนาการเพื่อให้รู้จักรอคอย ยอมรับเงื่อนไขที่ตกลง รู้จักแบ่งปันและอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือเด็กที่มีภาวะออทิสติกในระดับที่ไม่รุนแรง ก็มีความจำเป็นที่ต้องฝึกฝนการสื่อสารและการปรับตัวเข้าหาเพื่อน สื่อสารบอกความต้องการได้ ตัวอย่างอาการข้างต้นจำเป็นต้องใช้การเล่นร่วมกันกับเพื่อนที่เป็นเด็กปกติ ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กที่มีความต้องพิเศษได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับเด็กทั่วไป จึงเป็นการแทรกแซงโดยธรรมชาติที่ทำให้พวกเขาเกิดทักษะและพัฒนาการในทุกด้านอย่างเป็นองค์รวม
ยกตัวอย่างของกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องเฉพาะด้านในการเรียนรู้ จะมีหลักการสอนที่ใช้หลัก 3 R ได้แก่ Repetition (การทบทวน), Routine (การทำซ้ำตามกิจวัตร), และ Relaxation (การผ่อนคลาย) ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถช่วยให้นักเรียนหรือผู้เรียนสามารถจดจำและเข้าใจสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้น โดยมีคำอธิบายดังนี้
1. Repetition (การทบทวน) : การทบทวนหรือทำซ้ำช่วยให้ข้อมูลหรือทักษะต่างๆ ฝังลึกในความจำ และสามารถนำไปใช้ได้ในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การทำการบ้าน การทบทวนบทเรียน หรือการฝึกฝนซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ
2. Routine (การทำซ้ำตามกิจวัตร) : การสร้างกิจวัตรประจำวันที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ เช่น การเรียนรู้ทุกวันในเวลาที่แน่นอน ช่วยให้เกิดความคุ้นเคยและเพิ่มความต่อเนื่องในการเรียนรู้ ทำให้กระบวนการเรียนรู้เป็นธรรมชาติและไม่รู้สึกเหมือนภาระ
3. Relaxation (การผ่อนคลาย) : การผ่อนคลายช่วยลดความเครียดและทำให้สมองสามารถประมวลผลข้อมูลได้ดีขึ้น เช่น การฝึกหายใจลึกๆ การนั่งสมาธิ หรือการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึก ผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถโฟกัสกับการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
คุณสุธีรา ครูโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าในสภาวะของเด็กรายบุคลลที่มีความต้องการแตกต่างกัน คุณครูถือเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่ต้องคอยสังเกตุพฤติกรรม ประเมินพัฒนาการเบื้องต้น เรียนรู้และปรับตัวในการดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง อันดับแรกครูจำเป็นต้องทำความเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กโดยเฉพาะพัฒนาการที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หากเราสามารถเข้าใจธรรมชาติและลักษณะเฉพาะของเด็กกลุ่มนี้ได้ เราจะสามารถกำหนดแนวทางการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้แนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการดูแลเด็กอย่างรอบด้าน ครูและโรงเรียนจำเป็นต้องมีกลไกในการสร้างมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองร่วมด้วยเพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กได้รับรู้และเข้าใจ รวมถึงออกแบบแนวทางในการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การเขียนแผน IEP (Individualized Education Program) และ IIP (Individual Implementation Plan) เป็นกระบวนการสำคัญในงานจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยทั้งสองแผนมีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่ทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องเพื่อช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) เป็นแผนที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคลสำหรับเด็ก โดยมุ่งเน้นการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ การพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์ และพฤติกรรม การจัดทำ IEP เป็นความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครอง นักบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เพื่อวางแผนที่เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของเด็กในระยะยาว องค์ประกอบสำคัญของ IEP ได้แก่ การระบุระดับพัฒนาการปัจจุบันของเด็ก เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว วิธีการเรียนการสอน และการประเมินผลเพื่อวัดความก้าวหน้า
ในขณะเดียวกัน แผนการจัดการเรียนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) เป็นแผนที่แตกย่อยจาก IEP โดยมีความละเอียดและเน้นการปฏิบัติจริงในช่วงระยะเวลาสั้น เป็นการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในทันที เช่น รายเดือนหรือรายสัปดาห์ แผน IIP ถูกใช้เพื่อช่วยให้การดำเนินงานในห้องเรียนสอดคล้องกับเป้าหมายที่ระบุใน IEP ครูผู้สอนจะนำแผน IIP มาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม และทำการประเมินผลเพื่อปรับปรุงการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก
แผนทั้งสองมีความสำคัญต่อเด็กในหลายมิติ ทั้งช่วยให้การเรียนการสอนตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะบุคคล ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านวิชาการ สังคม และอารมณ์ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะและความสามารถในด้านที่เด็กมีศักยภาพ ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ในแบบที่เหมาะสมนั่นเอง
เด็กที่มีความต้องการพิเศษอีกกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยที่เรายังคงพบเจอได้ คือ กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็น จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการทุกประเภทรวมมากกว่า 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้พิการทางการมองเห็นจำนวน 186,701 คน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้พิการที่ตาบอดสนิท และกลุ่มผู้พิการที่มีสายตาเลือนราง
ในประเทศไทยเด็กที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็นยังคงเป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องการการสนับสนุนทางการศึกษาที่เฉพาะเจาะจง โรงเรียนธรรมิกวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำสำหรับเด็กตาบอดโดยเฉพาะ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงเรียนให้ความสำคัญทั้งในด้านการเรียนรวมและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
image
ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมิกวิทยา คุณกรกนก ศิริวงษ์ ได้กล่าวว่า เด็กบางส่วนที่เรียนที่โรงเรียนธรรมิกวิทยาจำเป็นต้องเข้าร่วมการเรียนรวมในโรงเรียนในละแวกใกล้เคียงเพื่อพัฒนาศักยภาพร่วมกับเด็กทั่วไป อย่างไรก็ตาม การเรียนรวมต้องอาศัยการเตรียมตัวของครูผู้สอนอย่างรอบคอบ คุณครูต้องเข้าใจความต้องการเฉพาะของนักเรียนกลุ่มนี้ และออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสม เช่น การปรับเนื้อหา การใช้สื่อการสอนเฉพาะทาง และการจัดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็ก
นอกจากการใช้อักษรเบรลล์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญแล้ว การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมก็มีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กตาบอด สื่อในรูปแบบภาพและเสียง เช่น รายการโทรทัศน์ที่มีระบบ Audio Description (คำบรรยายเสียงสำหรับภาพที่ปรากฏ) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ที่หลากหลายและช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเนื้อหาได้มากขึ้น
โรงเรียนธรรมิกวิทยายังเน้นการออกแบบสถานที่ให้เหมาะสมกับการใช้งานของเด็กตาบอด การสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเป็นมิตรเป็นสิ่งสำคัญ การออกแบบสถานที่ตามแนวคิด Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคน ช่วยให้เด็กตาบอดสามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดห้องเรียน ทางเดิน หรือพื้นที่ส่วนกลางที่เอื้อต่อการใช้งาน
นอกจากการจัดการเรียนการสอนแล้ว บรรยากาศในโรงเรียนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็มีบทบาทสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเด็กตาบอด การมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เส้นทางเดินที่ชัดเจน อุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหว และการปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนและพื้นที่ใช้สอย ให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก ตาบอด จะช่วยให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้ายแล้วโรงเรียนเฉพาะความพิการเป็นประตูสำคัญที่จะช่วยให้เด็กตาบอดสามารถเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันกับเด็กปกติ ส่งเสริมความเข้มแข็งทางใจ ฝึกฝนทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ไขปัญหา จำลองชีวิตที่จะพบเจอเมื่อเข้าเรียนรวมและใช้ชีวิตในสังคมที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายขึ้น ทั้งหมดนี้โรงเรียนมีหน้าที่เตรียมความพร้อมทักษะและประสบการณ์ชีวิตเพื่อให้พวกเขาอยู่ในสังคมอนาคตต่อไปได้
image
ประเด็นสุดท้ายครูอนุสรณ์ อดีตครูโรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า ยังมีเด็กนักเรียนที่มีความหลากหลายในบริบทชีวิตและความต้องการเฉพาะ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบางที่เผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจและจิตใจ เด็กในพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวนมากไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่เติบโตภายใต้การดูแลของปู่ย่าตายาย บางบ้านขาดแคลนทรัพยากรพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คุณครูอนุสรณ์ ได้เล่าถึงสถานการณ์ของนักเรียนกลุ่มนี้ว่า โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็กเปราะบาง โรงเรียนจัดหาอาหารเช้าให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้พวกเขามีแรงกายและกำลังใจสำหรับการเรียนรู้ ครูยังมีการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน และพยายามให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็น
การสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและอบอุ่นในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก เด็กบางคนอาจมาถึงโรงเรียนด้วยความทุกข์ใจจากปัญหาที่บ้าน คุณครูจึงมีบทบาทในการต้อนรับและทำให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีพื้นที่ที่ยอมรับและสนับสนุนพวกเขา แม้ในวันที่พวกเขาอาจไม่พร้อมที่จะเรียน ดังนั้นการเรียนการสอนแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้ เนื่องจากพวกเขามักมีปัญหาในการอ่านและเขียน หรือขาดทักษะพื้นฐานทางการศึกษา คุณครูจึงเน้นการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ การสอนแบบ PBL (Play-Based Learning, Project-Based Learning, Phenomenon-Based Learning) ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ถูกนำมาใช้เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเอง โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ช่วง (Quarter) ซึ่งช่วยสร้างความต่อเนื่องและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน การเรียนรู้แบบกลุ่มยังช่วยให้เด็กได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และฝึกฝนทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อนในวัยเดียวกันมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและทักษะทางสังคมของเด็ก เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่ชนบทอาจไม่ได้ศึกษาต่อในระดับสูง แต่จำเป็นต้องมีทักษะชีวิตเพียงพอที่จะช่วยให้พวกเขาดำรงชีวิตและช่วยเหลือตนเองได้ในอนาคต
นอกจากบทบาทของครูแล้ว การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเด็ก คุณครูได้กล่าวถึงแนวทางในการดึงความร่วมมือจากผู้ปกครอง โดยเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมในชั้นเรียนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการสอนและการพัฒนาของโรงเรียน การมีส่วนร่วมเช่นนี้ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทของตนเองใน การสนับสนุนการเรียนรู้ของบุตรหลาน และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างบ้านและโรงเรียน
การพัฒนาเด็กเปราะบางในพื้นที่ชนบทต้องอาศัยความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทั้งจากครู ผู้ปกครอง และชุมชน การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม และการสนับสนุนด้านสังคมและอารมณ์ของเด็ก เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเติบโตขึ้นเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าในสังคม
image
วงเสวนา “ครูแบบไหนที่เติมเต็มใจให้นักเรียนทุกด้าน”
แขกรับเชิญ
1. อาจารย์ ดร.สันติภาพ นันทะสาร อาจารยประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
2. คุณจิรวิทย์ มาสิกะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองวัลย์เปรียง
3. คุณมาลินี หมันเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา
4. คุณฐิรชา แก้วพฤกษ์ ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
5. คุณสุริยา มนัสสา ครูโรงเรียนวัดคฤหบดี (จันทรสถิตย์)
image
บทบาทของครูในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการให้ความรู้ทางวิชาการ แต่ยังต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคมของนักเรียน สภาพแวดล้อมในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในหลายด้าน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เด็กต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังคงส่งผลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัญหาภัยธรรมชาติในหลายภูมิภาคของประเทศ เด็กจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียบ้าน และมีการเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่ที่กระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง นอกจากนี้ จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ถึง 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 พบว่าในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนกว่า 360,000 คน มีเด็กที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าถึง 39,105 คน หรือคิดเป็น 10.86% และเด็กที่เสี่ยงฆ่าตัวตายจำนวน 65,951 คน หรือ 19.12% ของกลุ่มสำรวจ
ด้วยข้อมูลดังกล่าว อาจารย์ ดร.สันติภาพ ทำให้เราตระหนักถึง ความสำคัญของการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน การมีใครสักคนที่คอยรับฟัง เข้าใจ และให้คำปรึกษาในยามที่พวกเขาต้องการเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และหากบุคคลนั้นคือ “ครู” ย่อมเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง เพราะครูถือเป็นบุคคลที่เด็ก ๆ มักมองหาเป็นที่พึ่งในช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกเปราะบางหรือไม่มั่นคงทางจิตใจ บทบาทของครูในฐานะพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนจึงต้องครอบคลุมในทุกมิติ สิ่งสำคัญเริ่มที่จิตใจและทัศนคติของครูเองที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กทุกคนก่อน ทุกอย่างจะแสดงออกผ่านแววตา ท่าทาง น้ำเสียง หรือไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นในห้องเรียน การเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ การช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านอารมณ์และจิตใจ รวมถึงการแนะนำแนวทางชีวิตที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง ครูไม่ได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นที่พึ่งและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน การเติมเต็มใจให้กับเด็ก ๆ ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ แต่คือความรักและความใส่ใจที่ครูมีต่อพวกเขา ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม
ผู้อำนวยการจิรวิทย์ มาสิกะ เล่าถึงบริบทของสถานศึกษา โดยระบุว่าโรงเรียนมีนักเรียนเพียงประมาณ 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและมีฐานะยากจน หลายคนต้องหยุดเรียนเพื่อไปช่วยผู้ปกครองทำการเกษตรเป็นระยะเวลาหลายเดือน เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน โรงเรียนได้มีการเยี่ยมเยียนบ้านนักเรียนทุกคนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ทราบว่านักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน โดยหลายคนอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งมีข้อจำกัดในการดูแลเด็กในหลายด้าน การเยี่ยมบ้านทำให้โรงเรียนสามารถดูแลนักเรียนแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถขอรับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้พยายามช่วยเหลือครอบครัวของเด็กเพื่อเสริมสร้างกำลังใจในการดูแลลูกหลาน โดยการประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งส่งผลให้ได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบของสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร และการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา โดยพระครูใบฎีกา สุรพล มหาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหนองวัลย์เปรียง ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านทุนการศึกษาและแจกจ่ายอาหารแก่ครอบครัวที่ประสบความยากลำบาก นอกจากนี้การเยี่ยมบ้านยังทำให้โรงเรียนทราบว่า แม้ครอบครัวที่ยากจนจะมีสถานการณ์ถึงขั้นอดมื้อกินมื้อ แต่พวกเขายังคงมีความตั้งใจที่จะส่งลูกหลานไปโรงเรียน เพื่อให้ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากตระหนักดีว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเปิดโอกาสในด้านอาชีพและชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งสามารถลดการเป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือแรงงานรายวันได้ในอนาคต
สิ่งที่โรงเรียนและผู้อำนวยการจิรวิทย์ พยายามทำคือการปรับกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กที่มีข้อจำกัดด้านการมาเรียน เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าเราพยายามหาทุกวิถีทางในการให้โอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษา ทั้งการสร้างห้องเรียนแห่งความสุขด้วยจิตวิทยาเชิงบวก สร้างพื้นที่ในโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย สามารถวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ รวมไปถึงสร้างการมีส่วนร่วมชวนผู้ปกครองมาพูดคุยกันว่าอยากให้บุตรหลานของตนเรียนไปเพื่ออะไร แล้วนำความคิดเห็นเหลานั้นมาออกแบบหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ส่วนใหญ่ต้องการให้บุตรหลานเรียนจบแล้วมีงานทำในชุมชน เน้นให้มีประสบการณ์ตรงที่สามารถนำมาใช้ทำงานได้จริง
ปัญหาหนึ่งที่พบเจองบประมาณไม่เพียงพอในการจ้างครู โดยมีกลยุทธ์สำคัญที่นำมาใช้ คือการดึง "ครูจิตอาสา" มาร่วมสอนเด็ก ๆ โดยเน้นการใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสร้างจิตใจของนักเรียนให้เข้มแข็ง ครูจิตอาสาเหล่านี้ไม่ได้เพียงถ่ายทอดความรู้ แต่ยังเป็น แรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพทั้งด้านความรู้และจิตใจนอกจากการพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนแล้ว ผู้อำนวยการยังมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยการระดมความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และวัดในชุมชน ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยเหลือและเติมเต็มในส่วนที่โรงเรียนขาดแคลน ทำให้เกิดเครือข่ายการสนับสนุนที่เข้มแข็งและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษา
ผู้อำนวยการมาลินี หมันเจริญ เล่าถึงการพัฒนาฐานกายของเด็กประถมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ หลังจากการปิดเรียนยาวนานในช่วงโควิด-19 เด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 2 หลายคนกลับมาโรงเรียนพร้อมกับปัญหาที่ท้าทาย ทั้งในด้านการอ่านออกเขียนได้ การเคลื่อนไหวร่างกาย และความพร้อมที่จะเรียนรู้ คุณครูพบว่าเด็กหลายคนยังไม่สดชื่น ไม่กล้าออกเสียงคำศัพท์ภาษาไทย ไม่ถนัดในการจับดินสอ หรือแม้แต่นั่งนิ่ง ๆ บนโต๊ะเรียนก็ยังทำได้ไม่นาน ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการนั่งเรียนที่บ้านเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ของเด็กไม่แข็งแรงและไม่พร้อมต่อการเรียนรู้
เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ปัญหาทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้เข้ามาช่วยประเมินความพร้อมของเด็ก โดยวัดค่าแรงบีบมือของนักเรียนประถมปีที่ 2 ซึ่งพบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีค่าแรงบีบมือต่ำกว่ามาตรฐาน (19 กิโลกรัม) ทำให้ไม่สามารถจับดินสอหรือเขียนหนังสือได้คล่อง ทีมโค้ชจึงแนะนำว่าการเร่งการอ่านหรือเขียนอาจไม่ใช่สิ่งแรกที่ควรทำ แต่ควรเริ่มต้นจากการพัฒนาฐานกายของเด็กให้พร้อมก่อน
image
image
image
image
image
โรงเรียนได้เริ่มแทรก "กิจกรรมฐานกาย" ในชีวิตประจำวันของเด็ก โดยมีการจัดอบรมให้ครูประถมต้นนำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้ในชั้นเรียน เช่น การยืดเส้นยืดสายก่อนเรียน การฝึกใช้กรรไกรตัดกระดาษ และการออกกำลังกายแบบง่าย ๆ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ โรงเรียนยังจัดซื้อเครื่องวัดแรงบีบมือ เพื่อประเมินความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นรายเดือน และใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการปรับกิจกรรมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นเน้นความสนุกและใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ ไม่ต้องหรูหรา เช่น กายบริหาร: ยืดเส้นยืดสายก่อนเข้าเรียน เพื่อสลายความง่วงซึม /กรรไกรในมือฉัน: ฝึกใช้กรรไกรตัดกระดาษ เพื่อเสริมแรงและการประสานงานของมือ /เดินกะลา: ฝึกการทรงตัวและความมั่นใจในการเคลื่อนไหว /เดินวิ่งซิกแซก: พัฒนาการตัดสินใจและความคล่องตัว /เปตอง: ฝึกการคาดคะเนน้ำหนักมือและการออกแรง /หมากขุม: ส่งเสริมการคิดและการใช้มือซ้าย-ขวา /กระต่ายขาเดียว: ในวิชาภาษาอังกฤษ เด็กต้องกระโดดขาเดียวไปหยิบคำศัพท์ เพื่อพัฒนาความคล่องตัวและความสนุกในบทเรียน กิจกรรมเหล่านี้ถูกนำไปใช้ทั้งในห้องเรียน ช่วงพักกลางวัน หรือกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ใต้ต้นไม้หรือสนามหญ้า เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจหลังจากเริ่มกิจกรรมฐานกาย ความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนในเวลาเพียงหนึ่งเทอม และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อผ่านไปหนึ่งปีการศึกษา เด็กที่เคยขาดเรียนเป็นประจำเริ่มมาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกัน เด็กหลายคนที่เคยไม่พร้อมเรียนก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เห็นได้จากความคล่องตัว ความมั่นใจ และความกระตือรือร้นในการเรียนรู้
ในอีกประสบการณ์ของ คุณครูฐิรชา แก้วพฤกษ์ที่เห็นว่าวิชาศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลเด็ก ในฐานะครูศิลปะมองว่า ศาสตร์ของศิลปะลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่การวาดเขียน แต่มันคือสะพานที่จะช่วยค้นหาตัวเองทั้งด้านศักยภาพ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ต่าง ๆ ได้ ผ่านงานศิลปะที่แสดงออกมา แม้ว่าในห้องเรียนที่เด็กมีปัญหาทั้งเรื่องจิตใจ เรื่องสติปัญญา หรือเราเจอเด็กพิเศษกระบวนการศิลปะสามารถนำมาช่วยได้อย่างมาก เมื่อเด็กได้ทำงานศิลปะรู้สึกว่าการทำงานศิลปะ คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา ให้เด็กได้ ปั้นดิน เป็นงานศิลปะ ขายได้ ทำให้เด็กอยากมาเรียนกับเราเราสอนเด็กตั้งแต่ ม.1-6 เราจะเห็นเส้นทางของเด็กตั้งแต่แรก ความเป็นวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์เด็กทุกคน จึงตัดสินใจเปิดชั่วโมงสาระเพิ่มก็มีนักเรียนสายวิชาการมาลงเรียน เพื่อผ่อนคลาย ในบริบทของครูที่สอนจะไม่สร้างความกดดันให้กับเขา ไม่มีการตัดสินผลงานเด็กว่าสวยหรือไม่สวย เมื่อเด็กชอบเขาจะสนใจไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมองเห็นอีกว่าศิลปะมาช่วยเรื่องการฝึกสมาธิ การค้นหาตัวตน ภาพจากงานศิลปะจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนึกคิดการแสดงสิ่งที่อยู่ภายในใจออกมา คุณครูเคยเจอเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าเพราะไม่มันใจเรื่องรูปร่างหน้าตา พอใช้กระบวนการศิลปะแล้วน้องดีขึ้น จนตอนนี้หยุดยาได้แล้วเพราะเด็กคนนั้นเปิดใจกับงานศิลปะ ได้ใช้เวลากับการระบายความรู้สึกออกมาผ่านงานศิลปะนั่นเอง
นอกจากนี้วิชาศิลปะ ยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาจิตใจของผู้เรียนด้วย เช่น ลดการบูลลี่กันในโรงเรียน เราลองเอาพล็อตเรื่องที่มีเนื้อหาหลากหลายและให้แง่คิดออกมาให้เด็กได้ลองอ่าน แล้วให้เขาตีความเรื่องราวออกมา แล้ววาดออกมาเป็นภาพหรือเรื่องการนำเรื่องราว เกี่ยวกับการบูลลี่จากบทละครแต่งเรื่องออกมา สะท้อนให้เขาได้คิด แล้วสะท้อนออกมาเป็นภาพวาดปกโปสเตอร์จากตัวละครที่ออกมา ใช้จุดนี้ละลายพฤติกรรม
นอกเหนือจากวิชาศิลปะแล้ว คุณสุริยา มนัสสา ครูโรงเรียนวัดคฤหบดี (จันทรสถิตย์) ยังมีแนวทางการเรียนรู้แบบบูรณาการหลายวิชาที่ช่วยสร้างความสุขระหว่างเรียนให้กับเด็ก นั่นคือ แนวทางจัดการเรียนรู้แบบ 4P ประกอบไปด้วย
1. Project เรียนรู้ผ่านการสร้างผลงานจริงการลงมือทำหรือการสร้างผลงานจริงด้วยตัวเอง คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ได้ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา และได้สื่อสารออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ โดยสามารถแสดงออกมาได้หลายวิธีการ เช่น การเขียน การสร้างโมเดล การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเขียนโปรแกรม
2. Passion ความหลงใหลในที่นี้ ไม่ใช่แค่ความชอบแต่คือการที่เราเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่ทำตรงหน้า โดยมีอิสระในการเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะพาไปถึงจุดที่เรียกว่า Passion หรือความหลงใหลได้ แม้ความสนใจนั้นจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่หากได้รับการสนับสนุน แม้ต้องพบกับความลำบาก แต่เราจะสนุกไปกับสิ่งที่ทำ
3. Peer เพื่อนคู่คิด ไอเดียดีๆ มักเกิดขึ้นเมื่อเราได้แบ่งปันไอเดียกับคนอื่นๆ การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยให้คนมาทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีในการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์
4. Play กล้าเล่น กล้าทดลอง การเล่นนั้นพาตัวเราไปไกลได้กว่าที่คิด เพราะการเล่นจะทำให้กล้าคิด กล้าทดลอง และขยายอาณาเขตการเรียนรู้ออกไปได้เรื่อย ๆ แต่หัวใจสำคัญของการเล่นก็คือต้องทำในสิ่งที่ไร้แบบแผน ใช้แค่จินตนาการ กล้าเล่นสนุก
VDO : โครงการ “เติมไอเดีย เติมไฟให้ ‘ครูเจ๋ง’ ได้ในห้องเรียน”